เปิดประวัติ ‘ศ.ระพี สาคริก’ ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทยสู่สากล

เปิดประวัติ ‘ศ.ระพี สาคริก’ ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทยสู่สากล

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เป็นบุคคลที่มีนิสัยรักธรรมชาติ รักการศึกษาและเรียนรู้ รักการคิด และสนใจต่อชีวิตที่มีการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ อย่างอิสระเสรีมาตั้งแต่ชีวิตยังเยาว์วัยมาก

จากการที่ได้แสดงออกมาตั้งแต่เล็ก ถึงความฝังจิตฝังใจและผลการเรียนที่สูงมากทางด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ และการประดิษฐ์คิดค้นเช่น เครื่องบินเล็ก เครื่องส่งวิทยุ และเครื่องมือจัดรูปภาพ ซึ่งในยุคนั้นมิใช่สิ่งแพร่หลายนักสำหรับเด็กไทย

ในด้านศิลปะในสมัยนั้นยังเด็ก ก็ได้แสดงออกถึงความมีจิตวิญญาณด้านนี้อยู่ในอุปนิสัยใจคอ มีความรักธรรมชาติ รักต้นไม้ รักสัตว์เลี้ยง รักการเขียนภาพ ถ่ายภาพ และรักการดนตรี ดังเช่นการเล่นไวโอลินมาตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ และมีผลงานการแต่งเพลงอยู่ในวงดนตรีสุนทราภรณ์และเค.ยูแบนด์ด้วย

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คือ เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสุภาพอ่อนโยน มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์มาตั้งแต่เด็ก จนเป็นที่รักของบรรดาเพื่อนๆ ที่รู้จักมาโดยตลอด เมื่อมีภาวะความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเพื่อนๆ ที่อยู่กันเป็นจำนวนมากมักได้รับการขอร้องให้เป็นผู้ประสานรอยร้าวเสมอๆ

กล้วยไม้เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้แสดงออกถึงความรักความสนใจมาตั้งแต่อายุได้เพียง 10 กว่าขวบปี และการดำเนินชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งที่รักที่สนใจอย่างจริงจัง ที่ทำให้พบกับความคิดแคบและความมีใจแคบของคนในสังคมได้เป็นแรงผลักดันอย่างสำคัญที่ทำให้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ต่อสู้กับสิ่งที่สวนทางกับความคิดความเชื่อของตนเองอย่างทุ่มเทให้ด้วยชีวิตและจิตใจ

ท่ามกลางภาพที่สะท้อนให้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เห็นว่า เมืองไทยเป็นแหล่งที่มีกล้วยไม้ป่าอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่การเลี้ยงกล้วยไม้ก็จำกัดตนเองอยู่แต่เพียงในกลุ่มคนผู้สูงอายุ ผู้มีเงินทอง และมียศฐาบรรดาศักดิ์กลุ่มเล็กๆ และท่ามกลางกระแสความคิดความเชื่อว่า กล้วยไม้เป็นของไร้สาระ เป็นของฟุ่มเฟือย และเป็นของคนแก่ คนมีเงิน ที่ปิดตนเองอยู่ในกลุ่มแคบๆ และยังใช้กล้วยไม้เป็นสิ่งซึ่งดูถูกดูแคลนผู้อื่น กับความคิดของ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่ทวนกระแสดังกล่าวโดยเหตุที่เชื่อว่า กล้วยไม้เป็นสิ่งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการเป็นเช่นนั้น แต่คุณภาพของความสามารถของคนต่างหากที่ทำให้เป็นเช่นนั้นไป จึงเกิดเป็นแรงดลใจให้ตนเอง รู้สึกท้าทายต่อการก้าวลงไปพิสูจน์ความจริงด้วยการกระทำจริงโดยตนเอง

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก จบการศึกษาปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในสาขาปฐพีวิทยา สมบูรณ์ด้วยการทำงานวิจัยเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง การวิเคราะห์ดินภาคกลางของประเทศไทยทางฟิสิกส์และเคมี ในปี พ.ศ. 2490 และอาสาสมัครออกทำงานวิจัยเรื่อง ข้าว พืชผัก และยาสูบ อยู่ในถิ่นทุรกันการในจังหวัดเชียงใหม่เป็นงานประจำ ส่วนการเรียนการสอนเรื่องกล้วยไม้ และใช้เวลาว่างส่วนตัวก็ยังไม่มีที่ไหน เพราะสังคมไทยที่พบทางการยังคงหันหลังให้กับวงการกล้วยไม้โดยสิ้นเชิง เริ่มลงมือค้นคว้าวิจัยเรื่องกล้วยไม้อย่างจริงจัง โดยใช้กล้วยไม้พื้นเมืองที่มีราคาถูก และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ดัดแปลงมาจากวัสดุที่ถูกทิ้งในท้องถิ่น และเมื่อถูกย้ายมารับงานวิจัยในเรื่องข้าวในชานเมืองกรุงเทพฯ. ก็ได้มีการสานต่อ กว่าจะพบความสำเร็จในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ ต้องใช้เวลากว่า 3 ปีเต็ม และติดตามมาด้วยการค้นพบวิธีการ เพาะเมล็ดกล้วยไม้ตั้งแต่ฝักยังอ่อนทำให้ทุ่นเวลาในการรอคอยหลังจากการผสมไปได้มากพอสมควร

ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 5 ที่
มลรัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา ได้พบการสาธิตวิธีขยายพันธุ์แบบเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือที่คนไทยในระยะหลังเรียกว่า การปั่นตา ที่ฝรั่งเศสนำมาแสดงแต่มิได้มีการเปิดเผยรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องธุรกิจของฝ่ายผู้จัดแสดง

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้นำเอาความคิดดังกล่าวกลับมาเผยแพร่และสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยขึ้นในวงการไทย อย่างไม่จำกัดอยู่ ณ ที่สถาบันใด และยังเน้นวิธีการจัดการที่พยายามดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์เหลือใช้ในสังคมไทยมาใช้ เช่นมีการนำเอารูปแบบของตู้ปลอดเชื้อรุ่นใหม่ที่มีราคาสูงมาก มาประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุราคาถูกที่มีในประเทศไทยและนำเอาขวดที่ใช้แล้ว มาศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงแต่ราคาต่ำมาก มาใช้งานในห้องปฏิบัติการ

นอกจากนั้นยังได้มีการวิจัยและวิเคราะห์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมในขณะที่ได้รับเชิญไปประชุมและเผยแพร่ความรู้วิชาการในประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อนำมาปรับและพัฒนางานวิจัยและส่งเสริมของวงการกล้วยไม้ไทย และในมุมกลับก็ส่งผลนำแรงศรัทธาจากประเทศต่างๆ กลับมาสู่ประเทศไทย

การวิจัยที่กระทำ ไม่เพียงเน้นอยู่ที่วิชาการทางเทคโนโลยี หากยังได้มีการศึกษาวิจัย ในด้านการจัดการและการค้าระหว่างประเทศโดยการเข้าไปสัมผัสและกระทำจริงด้วยตนเอง

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้ปูพื้นฐานการพัฒนาไว้ตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยหลักการที่มีส่วนอยู่ในภาพรวม คือ การส่งเสริม ที่เริ่มต้นขึ้นจากประชาชนทั่วไป ไม่เพียงแต่การให้วิชาความรู้ทางวิชาการ แต่ได้ปูพื้นฐานการรวมกลุ่มและสร้างผู้นำเพื่อการประสานงานและการจัดการร่วมกันบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเอง ที่เป็นทั้งพื้นฐานและผสมผสานอยู่ในการจัดการฝึกอบรม แต่ยังมีการกระจายสู่ท้องถิ่น พร้อมทั้งเปลี่ยนนโยบายจากความคิดเก่าๆ ที่มีการจัดตั้งสาขาของกรุงเทพฯ. ให้เกิดความอิสระขึ้นในแต่ละท้องถิ่น เพื่อกระจายจิตสำนึกรับผิดชอบ และประสานความสามัคคีเข้าหากันด้วยพลังที่เป็นนามธรรม

การวิจัยค้นคว้าและการเรียนการสอนที่เป็นทางการ
ในสถาบันการศึกษา

หลังจากการค้นคว้าวิจัยที่ได้คิดและกระทำเป็นการส่วนตัวในยุคแรกๆ ขณะที่ไม่มี ณ ที่ใด ประมาณปี พ.ศ.2502 หลังจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตั้งวิชาพืชสวนขึ้นแล้ว ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ก็ได้เริ่มให้มีการเรียนการสอน และการวิจัยขึ้นในกิจกรรมวิทยานิพนธ์ของนิสิต บนหลักการของการผลิตนักวิชาการในด้านนี้ เพื่อออกไปให้บริการแก่ชุมชน และช่วยงานส่งเสริมภายในระบบที่มองอย่างรวมๆ

ได้ออกไปใช้ชีวิตศึกษาสำรวจกล้วยไม้ป่าในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ให้ได้มาซึ่งต้นกล้วยไม้เพื่อการใช้ประโยชน์เป็นพื้นฐานการผสมพันธุ์ แต่ยังมีการศึกษาเรียนรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ และสภาวะแวดล้อมโดยมุ่งสู่ทั้งการอนุรักษ์และพัฒนา

การปรับระบบและประสานงานกับต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เริ่มได้รับเกียรติจากวงการกล้วยไม้ของโลกเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2506 ในขณะที่มีอายุได้ 41 ปี โดยได้รับเกียรติให้เป็นองค์ปาฐกทางวิชาการในที่ประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 4 ที่ประเทศสิงคโปร์ และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการฝ่ายวิชาการนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

งานประชุมกล้วยไม้โลกซึ่งจัดให้มีขึ้นในประเทศต่างๆ 3 ปีต่อครั้ง โดยหมุนเวียนไปตามประเทศต่างๆ ทุกภูมิภาคของโลก ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ก็ได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกประจำติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น เมื่อมีการจัดงานกล้วยไม้ระหว่างประเทศขึ้นในประเทศใด ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ก็มักได้รับเชิญเป็นวิทยากรเสมอมา

ในปี พ.ศ.2509 หลังจากเสร็จการประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 5 ที่มลรัฐแคลิฟอเนียแล้ว ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้รับเชิญไปเยี่ยมสมาคมกล้วยไม้ต่างๆ และเป็นวิทยากรบรรยาย อีกถึง 35 สมาคม ใน 15 มลรัฐ สองฝั่งของสหรัฐอเมริกา

ได้ใช้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ระบบงานเพิ่มเติม และเมื่อกลับมาปรับนโยบาย และมาตรฐานงานวิจัยงานส่งเสริม และงานจัดการทางสังคมและการศึกษา โดยถือวัฒนธรรมพื้นฐานของเราเองเป็นหลักแก่การปรับระบบงานพัฒนาให้สามารถสอดคล้องกันกับของสากลประเทศ

ทำให้ระบบงานและผลผลิตกล้วยไม้ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนข้อมูลจากต่างประเทศเข้ามาเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย

จากผลงานที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างศรัทธาให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งที่มีหลายประเทศต้องการงานประชุมกล้วยไม้โลก แต่ประเทศไทยก็ได้รับงานประชุมกล้วยไม้โลกมาจัดในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2521 ยังความประทับใจให้แก่วงการกล้วยไม้ทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากงานประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 เป็นต้นมา ศาสตราจารย์ระพี สาคริกเห็นว่า อายุตนเองก็มากยิ่งขึ้น งานทั้งหลายควรได้รับการถ่ายเทไปอยู่ที่ประชาชน จึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเองมาตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาวิจัย งานส่งเสริมเผยแพร่ และงานบริการให้แก่ส่วนรวมในด้านรูปวัตถุ เช่นงานวิจัยวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการที่เคยทำอยู่ในบ้าน เปลี่ยนไปเป็นการยืนอยู่ในฐานะให้การแนะนำและเสริมแนวคิดในการพัฒนา

นอกจากสิ่งใดที่มองเห็นว่าจะมีประโยชน์ในระยะไกล แต่วงการกล้วยไม้ยังมองไม่ถึง จึงริเริ่มทำเอง แต่ก็ค่อยๆ ลดลง

แต่งานทั้งหลายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วยแรงศรัทธากลับมีการขยายวงกว้างและเพิ่มมากขึ้น ในมุมกลับก็ส่งผลขยายตลาดเศรษฐกิจให้แก่วงการกล้วยไม้ไทย

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้แนะนโยบายให้แก่วงการกล้วยไม้ ให้ความสนใจคนที่ไปประกอบธุรกิจค้าขายอยู่ในต่างประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจสูงๆ กว่าเรา เช่นสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้คนเหล่านั้นผู้มีพื้นฐานจิตสำนึกพื้นฐานสายเลือดอยู่ในประเทศไทย เป็นหัวหอกในการเจาะและขยายตลาดกล้วยไม้ ซึ่งในช่วงเวลาไม่นานปี ก็ส่งผลดีให้เห็นได้เด่นชัดในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้ริเริ่มกิจกรรมระหว่างประเทศชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งคือ การประชุมกล้วยไม้ระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค เมื่อปี พ.ศ. และผ่านการจัดมาแล้วรวม 2 ประเทศ โดยได้พิจารณาเห็นว่า ในภูมิภาคนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นกล้วยไม้อยู่มากมาย และมีหลายประเทศที่สนใจปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ เพื่อผนึกกำลังในการอนุรักษ์และพัฒนาการกล้วยไม้ร่วมกัน

ผลงานของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้ถูกนำลงเผยแพร่ในสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศ อยู่เป็นประจำเสมอมา ดังเช่น Asia Business , วารสารที่แจกในเครื่องบินของสายการบินระหว่างประเทศ เช่น ของญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และของการบินไทย และที่อื่นๆ ซึ่งได้มีการมาขอสัมภาษณ์ไปลงพิมพ์ ตลอดจนสารคดีของสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศ เช่น B.B.C. และสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันศาสตราจารย์ระพี สาคริก โดยอาศัยแรงศรัทธาที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ ได้ใช้การรับเชิญไปเยือนและไปบรรยาย ได้ข้อมูลเจาะลึกเข้าไปสู่สิ่งที่ฝังอยู่ในส่วนลึกของวงการเหล่านั้นกลับมาแนะนำแนวทางผลิตและตลาดให้แก่คนไทยอยู่เสมอมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ตนเองไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าเป็นการส่วนตัว

อนึ่ง ในด้านครอบครัว คุณกัลยา สาคริก มีส่วนอย่างสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป็นทั้งผู้ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนและร่วมมือในการเดินทางไปร่วมปฏิบัติงาน จนเป็นที่รู้จักนับถือและสนิทสนมของบุคคลผู้เกี่ยวข้องในต่างประเทศอย่างควบคู่กัน และเป็นหลักประกันให้แก่การมองด้วยสายตาของชาวต่างประเทศว่า เป็นชีวิตที่มีจริยธรรมพื้นฐานและมีความมั่นคง

ด้วยผลงานซึ่งมีประจักษ์พยานที่รับรองคุณภาพและคุณความดีเป็นที่ประจักษ์ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้รับรางวัลเกียรติคุณระดับสูงทั้งในและต่างประเทศ ที่มีความเด่นชัดอยู่ในตัวเองเช่น

เมื่อปี พ.ศ.2509 ในการประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 6 ที่นครซิดนี่ ประเทศออสเตรเลีย องค์การกล้วยไม้แห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย ได้มอบประกาศนียบัตร AWARD OF HONOUR ให้แก่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก

ในปีพ.ศ. 2511 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฏีมาลาเข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ที่แสดงถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ ตั้งแต่อายุได้ 46 ปี

ปี พ.ศ. 2513 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ตำแหน่งวิชาการ โดยไม่ได้ผ่านการเป็นรองศาสตราจารย์

ในปี พ.ศ.2520 สมาคมกล้วยไม้เอเซียอาคเนย์แห่งประเทศสิงคโปร์ ได้ประกาศยกย่องเกียรติคุณ โดยมอบรางวัลเหรียญทองให้ในฐานะที่มีบริการทางวิชาการแก่โลกในด้านกล้วยไม้ดีเด่นมาเป็นเวลายาวนาน

ในปี พ.ศ.2521 สมาคมกล้วยไม้อเมริกัน (Amercan Orchid Society) ก็ได้มอบรางวัลเหรียญเงิน(Silver Medal Award) ในฐานะที่เป็นประธานจัดงานประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 ได้ด้วยผลสำเร็จที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ

และในปี พ.ศ.2523 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากสมเด็จพระจักรพรร ดิ์ (The Sacret Class of The Rising Sun) ในฐานะเป็นบุคคลผู้ประสพผลสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างประเทศ โดยใช้กล้วยไม้เป็นสื่อสัมพันธ์ โดยที่พณ.ท่านนายกรัฐมนตรี ฟูกูดะ เป็นผู้มอบในโอกาสที่บินมาประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก บินไปรับการจัดงานเลี้ยงฉลองจากบรรดามิตรญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว

ในปี พ.ศ. 2529 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้รับรางวัลเหรียญทอง Veitch Memorial Gold Medal Award จากราชสมาคมพืชศาสตร์แห่งประเทศอังกฤษ (RHS) ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด ที่ประเทศอังกฤษมอบให้แก่บุคคลในด้านวิชาการพืชศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2524-25 ได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ดุษฏีบัณฑิต คณะเกษตรศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ และได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร แม่โจ้ (วิทยาลัยแม่โจ้) เชียงใหม่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตรพืชศาสตร์

ปีพ.ศ.2534 ได้รับ ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาชีววิทยา

ความสำเร็จที่เป็นผลงานของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่มีภาวะเป็นนามธรรม และเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ควรกล่าวเน้นไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นข้อสังเกตที่ควรสนใจก็คือ การเปลี่ยนเจตคติและค่านิยมของคนในสังคมไทย

ประเด็นแรกคือ ความนิยมชมชื่นที่เคยเน้นอย่างรุนแรงในอดีตว่า กล้วยไม้ต่างประเทศเป็นสิ่งที่ควรยกย่องว่าดี ส่วนกล้วยไม้พื้นเมืองของไทยที่ควรคิดว่าคือพื้นฐานทั้งในด้านจิตใจและวัตถุของการสนทนากลับถูกดูถูกดูแคลน ได้ถูกเปลี่ยนมาสู่ทิศทางตรงกันข้ามดังที่เห็นกันได้ในปัจจุบัน

ประเด็นที่สองก็คือ ในอดีต สังคมไทยเคยมองด้วยความรู้สึกนึกคิดว่า กล้วยไม้เป็นสิ่งไร้สาระ เป็นของฟุ่มเฟือยเป็นสิ่งทำลายเศรษฐกิจ เป็นของเล่นสำหรับคนแก่ คนมีอายุและคนมีเงินนั้น ได้กลายเป็นพืชที่ทำประโยชน์ทางจิตใจและเศรษฐกิจร่วมปีละ 1 พันล้านบาท อย่างไม่จำกัดอยู่แต่ประโยชน์ที่มุ่งสู่คนสูงอายุและคนมีเงิน แม้แต่กระบวนงานราชการ ที่เคยมีทรรศนะที่หันหลังให้กับความสำคัญของกล้วยไม้ตลอดมา จนบางครั้งก็ได้ยินเสียงปรารภกันว่า เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งของการเกษตรไทย ในปี พ.ศ.2530 ก็เป็นปีเริ่มต้นของการประกาศว่า กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *