การประชุมวิชาการ ที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2553

ท่านที่เคารพทุกท่าน ด้วยกระผมในฐานะนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอันถือรากฐานจิตใจที่อิสระเป็นหลักและคือวิถีการจัดการ “ศึกษาทางเลือก” (Alternative  Education) ทั้งนี้หาใช่การเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวเป็นเรื่องของกระผมไม่ หากได้รับการขอร้องในขณะที่สภาวะการจัดการศึกษาของชาติกำลังตกอยู่ในสภาพที่มีปัญหาหนักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำตัวเองลงมาสู่ระดับล่างเพื่อมองเห็นความจริงในเรื่องนี้ จึงถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ไม่ควรปล่อยปละละเลยปัญหาของสังคม หากควรนำปฏิบัติอย่างดีที่สุดและพิจารณาตนเองถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเพื่อถอนตัวออกมาปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ภายในจิตใต้สำนึก

ทั้งนี้เนื่องจาก การศึกษาทางเลือก มีเหตุอันควรนำมาพิจารณาว่า การจัดการศึกษาของไทยเท่าที่เป็นมาแล้วมีรากฐานที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมทางวัตถุ ทำให้จิตวิญญาณของเยาวชนส่วนใหญ่ขาดอิสระ ผลที่ปรากฏก็คือ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านการหล่อหลอมโดยบรรยากาศดังกล่าว ขาดคุณธรรมประจำใจและขาดจริยธรรมในการนำปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ จึงเกิดปัญหาการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ถึงขั้นทำให้สังคมเกิดความเดือดร้อนหนักมากยิ่งขึ้น

ในฐานะที่กระผมได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด แม้นำเอกสารเชิญประชุมรวมทั้งสิ่งที่แนบมาด้วยมาพิจารณา แม้ตัวเองยังมีสติปัญญาไม่มากนัก แต่ก็ได้เห็นเงื่อนปมที่แฝงอยู่ในเอกสารดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เกิดอิสรภาพ หรืออีกนัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีการจัดการที่ควรจะช่วยให้รากฐานจิตใจมีโอกาสสู่อิสรภาพให้เชื่อมั่นได้

อนึ่ง กระผมเชื่อมั่นว่า “ความหวังที่จะแก้ไขปัญหาที่แฝงอยู่ในจิตวิญญาณมนุษย์เพื่อนำไปสู่คุณภาพในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้น ควรใช้หลักธรรมนำปฏิบัติ ย่อมแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง”

ประการสำคัญอันดับแรกที่ปรากฏอยู่ในเอกสารการเชิญประชุมนั้นคือ ปรากฏการณ์ที่กระผมได้รับจากการดำเนินชีวิตมาในอดีตตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 ได้แก่การจัดตั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และกระผมได้เข้าไปมีบทบาทเป็นเลขานุการที่ประชุมจึงช่วยให้รู้ความจริงได้เป็นส่วนใหญ่

ครั้นกระผมพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว ตัวเองได้จัดตั้งที่ประชุมสภาอาจารย์ทั่วประเทศขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการนำคนระดับบนลงมาสู่ระดับล่างเพื่อก่อให้เกิดปัญญาในการสร้างสรรค์พื้นฐานการศึกษาอย่างสำคัญ โดยเฉพาะเน้นการลงไปคลุกคลีอยู่ในชนบทซึ่งถือว่านำปฏิบัติอย่างได้ผลตามหลักความจริง ดังจะพบได้จากบทความเรื่อง “ประสบการณ์ในการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”และบทความเรื่อง “สูงที่สุดคือต่ำที่สุด”ซึ่งควรถือว่าคือการปฏิบัติตามหลักธรรมะ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า เมื่อร่างกายขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง ตัวเองก็ควรลงมาสัมผัสกับคนระดับต่ำ

แต่การนำคนซึ่งเป็นผลิตผลจากการจัดการศึกษาลงมาทำงานในระดับล่างนั้น บัดนี้ได้หวนกลับขึ้นไปสู่ระดับสูงยิ่งกว่าเก่า ซึ่งโบราณได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การที่คนระดับสูงลงมาทำงานในระดับล่างนั้นย่อมเกิดปัญญาที่แตกฉานให้เชื่อมั่นได้จึงทำให้เกิดวิถีการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้ตัวเองเข้าใจถึงสัจธรรมในการดำเนินชีวิตที่เป็นความจริง

และยังมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยพสกนิกรอย่างเด่นชัดมาตลอด ซึ่งประเด็นนี้พระองค์ท่านทรงดำรงอยู่เหนือเกล้าของคนไทยทุกคน แต่ในทางปฏิบัติได้เสด็จลงมาทรงงานคลุกคลีอยู่กับความทุกข์ยากของชาวบ้านด้วยพระองค์เอง จึงมีโอกาสทรงทราบความจริงได้อย่างลึกซึ้ง อันควรถือว่าคือแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้บริหารทุกระดับให้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ดังที่คนโบราณได้เคยกล่าวฝากไว้ว่า “ผู้ที่มีวิญญาณอยู่กับพื้นดินย่อมมีปัญญาแตกฉาน”

ประการที่สอง กระผมคิดว่าการมีเป้าหมายที่จะ “เพิ่มศักยภาพของประเทศให้เป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและการวิจัยในภูมิภาคอาเซียน”ซึ่งปรากฏข้องความอยู่ในเอกสารเชิญประชุมดังกล่าว ถือว่าเป็นการขัดแย้งกันกับหลักธรรมที่สอนให้กระทำอย่างดีที่สุด หาใช่เอาเป้าหมายในด้านรูปวัตถุเข้าไปตั้งไว้

ประสบการณ์ในเรื่องนี้ ในปีพ.ศ. 2488 ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสร็จสิ้นลงและสหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้นำในการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นที่นครนิวยอร์ก นอกจากนั้นแล้ว องค์การสหประชาชาติยังได้จัดตั้งองค์กร “อาหารและเกษตร”(FAO)ซึ่งในปีพ.ศ. 2491 ทางองค์กรดังกล่าวได้ส่งผู้แทน รวม 2 คนเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย โดยถือเอาเป้าหมายในระดับโลกมาอ้าง เพื่อให้คนไทยผลิตข้าวเลี้ยงชาวโลก ครั้งนั้น2 คนที่องค์การ FAO ได้ส่งเข้ามาเจรจาได้แก่ Dean  Walker ซึ่งเป็นคณบดีคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐUtah ส่วนอีกคนหนึ่งได้แก่ Dr. Robert  L. Pendleton ซึ่งท่านผู้นี้เคยทำงานอยู่ในเอเชียมานานนับ 10 ปี และกระผมก็เป็นคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาห้องสมุดส่วนตัวของท่านระหว่างที่ญี่ปุ่นขึ้นประเทศไทยและตัวของท่านได้หนีกลับไปอยู่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะเข้ายึดประเทศสยามเล็กน้อย (ช่วงนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากชื่อเดิม)

หลังเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ทั้ง 2 คนได้ถูกส่งเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยโดยเสนอเงื่อนไขให้ “ประเทศสยามผลิตข้าวเลี้ยงชาวโลก”ด้วยเหตุที่รู้ว่า นิสัยคนไทยส่วนใหญ่มักดูถูกของเล็กรวมทั้งดูถูกของต่ำจึงนำเอาระดับโลกมาล่อและปรากฏว่ารัฐบาลไทยสมัยนั้นก็ได้รับเงื่อนไขนี้ไว้

กระผมเป็นคนหนึ่งซึ่งถูกสั่งให้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวภายในประเทศ ผลจากการวิจัยปรากฏว่าได้ข้าวมาทั้งหมดกว่า 12,000สายพันธุ์ นอกจากนั้นยังได้ทำการกลั่นกรองจนกระทั่งเด่นชัดยิ่งขึ้น

ครั้นได้รับผลถึงระดับหนึ่งแล้ว มูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ก็ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยข้าวขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ “IRRI”แทนที่จะกระทำบนพื้นฐานประเทศไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งขณะนั้นฟิลิปปินส์ยังเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐฯหรืออย่างน้อยก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมของประเทศอภิมหาอำนาจ และนักวิจัยไทยส่วนใหญ่ก็อยากไปทำงานในระดับนานาชาติอย่างสอดคล้องกันกับความต้องการของคนต่างชาติซึ่งวางแผนเอาไว้อย่างแนบเนียน ในที่สุดข้าวหอมของไทยรวมทั้งพันธุ์อื่นๆที่มีคุณสมบัติดีเด่น ก็ตกไปอยู่ในมือประเทศอภิมหาอำนาจ อีกทั้งยังอาจมีการเปลี่ยนชื่อพันธุ์จากของดั้งเดิมด้วย

นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง หวังว่ายังมีคนที่จำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ เพราะประเทศไทยได้ถูกประเทศอภิมหาอำนาจยกย่องให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วยุคใหม่ ซึ่งครั้งนั้นพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเหตุว่าถูกยกก้นให้ขึ้นไปอยู่ที่สูงในที่สุดการปฏิบัติก็ได้ทำให้เศรษฐกิจของไทยในช่วงนั้นตกอยู่ในสภาพที่เรียกกันว่า “ฟองสบู่แตก”ยังมีกรณีอื่นๆอีกแต่กระผมคงขออนุญาตไม่นำมากล่าวให้มันยืดยาว เพียงแต่ขอสรุปว่า “เพราะนิสัยคนไทยส่วนใหญ่บ้ายอ”จึงทำให้ประเทศอื่นที่เขารู้จุดอ่อนใช้เป็นเครื่องมือแสวงผลประโยชน์จากประเด็นนี้ได้แทบทุกเรื่อง

อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งปีนั้นกระผมไม่ทราบว่าใครหรือองค์กรไหนได้นำชื่อของกระผมไปเสนอเพื่อขอรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดทางวิชาการ ในพิธีพระราชทานครั้งนั้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หลังจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานไว้เหนือเกล้าฯแล้วจึงเสด็จลงจากพระแท่นมาประทับยืนอยู่ตรงหน้ากระผม หลังจากนั้นจึงทรงรับสั่งว่า “ทำอะไรก็สุดแล้วแต่ ขอให้รักที่จะทำและกระทำอย่างดีที่สุด”ซึ่งกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวตรงกับหลักธรรมดังได้กล่าวมาแล้วในตอนแรก

สรุปแล้วกระผมใคร่ขอร้องว่าโปรดอย่าเอาเป้าหมายระดับสูงมาล่อ โดยประกาศว่าจะต้องนำตัวเองไปแข่งขันกับคนชาติอื่นเพื่อหวังครองผลประโยชน์ในระดับสูงแม้ระดับภูมิภาค หากควรคิดว่าเราจะทำอย่างดีที่สุด ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกันกับหลัก “ความพอเพียง”ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจพลาดท่าเสียทีคนชาติอื่น เพราะไม่รู้จักว่าตัวเราคือใคร

ดังเช่นครั้งหนึ่งท่านเจ้าคุณพรหมคุณาพร (เจ้าคุณธรรมปิฎกหรือประยุติ  ประยุติโต)ครั้งหนึ่งได้เขียนจดหมายมาถึงกระผมโดยกล่าวว่า การจัดการศึกษาที่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือไปแข่งขันกับคนชาติอื่นนั้น ย่อมส่งผลเสียหายให้แก่ตัวเอง

ผมจึงคิดว่าการที่เราจะพัฒนาให้สามารถเอาชนะใครก็ตามเพื่อจะได้อยู่สูงกว่าเขานั้น ยิ่งทำเราก็ยิ่งตกต่ำลงไปมากขึ้น หลักธรรมท่านสอนเอาไว้ให้เราทำอย่างดีที่สุด และควรภูมิใจในตนเองเพราะถือความจริงภายในรากฐานจิตใจเป็นที่ตั้ง ทั้งๆที่ตัวเราเองก็เคยทำมาแล้ว ซึ่งกระผมยังจำได้ดีว่า มีนักวิชาการระดับด๊อกเตอร์หลายคนในอดีตที่มักพูดว่า เราจะต้องตามประเทศนั้นประเทศนี้ให้ทัน ไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะดีกว่าตัวเอง แต่เรื่องนี้ หลังจากนำปฏิบัติครั้งใดมันก็ทำให้ตัวเราเองจำต้องตกต่ำลงไปมากยิ่งขึ้น

ดังเช่นที่กระผมได้เคยพูดย้ำถึงความสำคัญของ “ปฏิกิริยาตาชั่ง”แม้แต่ตราประจำกระทรวงยุติธรรมก็ยังใช้หลักนี้

เพราะหลักธรรมก็ได้ชี้ไว้ว่า “เพราะมีเหตุนั้นจึงมีเหตุนี้”ดังนั้นเพราะเราอยากขึ้นไปอยู่ที่สูงจึงทำให้ตัวเราเองจำต้องตกต่ำลงมาอยู่ในสภาพที่ด้อยโอกาสกว่าคนอื่น

ประการที่สาม สัจธรรมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน เราควรเข้าใจว่าแต่ละคนที่เกิดมานั้น ทุกคนมีความจริงอยู่ในใจตนเองเป็นที่ตั้งอันถือว่าคือคุณค่าชีวิต นี่แหละที่ผู้ใหญ่ทุกคนซึ่งทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์แก่ชนรุ่นหลังควรเคารพในสิทธิอันเป็นธรรมชาติของชีวิตเขาทั้งหลาย

ดังนั้นคำว่า “ให้โอกาส”จึงหมายถึงการใช้คุณงามความดีเป็นพื้นฐานการนำปฏิบัติโดยไม่เอาอิทธิพลอำนาจของตัวเองเข้าไปกดทับสิ่งดังกล่าว ดังนั้นคำว่า “ให้โอกาส”จึงหมายความถึงการเคารพในสิทธิของทุกคนที่มีอยู่แล้วภายในจิตวิญญาณตนเองให้สามารถนำปฏิบัติเพื่อหวังความเจริญทางสติปัญญา อันควรได้ชื่อว่า “การพิจารณาให้โอกาสชนรุ่นหลังได้เติบโตขึ้นมาบนพื้นฐานการพึ่งตนเองได้อย่างสมศักดิ์ศรี”

ประการที่สี่ จากข้อความประโยคหนึ่งภายในเอกสารที่เกี่ยวกับกายกร่างข้อตกลงว่าด้วยสมัชชานายกสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ให้กำหนดกรอบแผนระยะยาว ความจริงแล้ว หลักธรรมไม่ได้ชี้ให้อำนาจในระดับบนต้องกำหนดกรอบครอบงำคนระดับล่าง คงมีแต่ “การให้โอกาส”ซึ่งในเอกสารเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแทบทุกฉบับซึ่งกระผมได้เขียนย้ำแล้วย้ำอีกว่า คนระดับบนควรให้โอกาสคนระดับล่างเพื่อหวังให้สิ่งที่อยู่ในรากฐานตนเองมีอิสรภาพที่จะเจริญงอกงามขึ้นมาโดยเปรียบประดุจหญ้าแพรก ดอกมะเขือที่ใช้กันอยู่ในพิธีไหว้ครู

“คำว่าธรรมาภิบาล”ควรเข้าใจได้แล้วว่าคือการใช้ธรรมะที่อยู่ในใจคนระดับสูงเพื่อคุ้มครองปกป้องให้ของจริงของบรรดาศิษย์ได้เจริญเติบโตขึ้นมาจากรากฐานตนเองอย่างอิสระ

ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่ควรใช้คำว่า “ธรรมาภิบาล”หากควรใช้คำว่า “ความไม่ชอบธรรม”ซึ่งคนระดับบนนำลงมาใช้กับคนระดับล่างมากกว่า

กระผมจึงได้กล่าวไว้ในที่ต่างๆย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ครูรวมถึงผู้ใหญ่ทุกคนควรเคารพในสิทธิและเสรีภาพของลูกศิษย์ แม้ผู้มีอำนาจก็ควรเคารพชาวบ้าน ซึ่งแท้จริงแล้วคนเหล่านี้คือพื้นฐานของตัวเอง”

อนึ่ง กระผมเคยตั้งคำถามขึ้นมาถามคนที่สนทนากับผมทางโทรทัศน์ว่า “เด็กคืออนาคตหรือคืออดีต ?”

หลายคนที่คิดได้ไม่ถึงมักตอบแทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “เด็กคืออนาคต”ในที่สุดผมก็เฉลยปัญหาว่า “เด็กคืออดีต”หลายคนไม่เข้าใจเพราะคนเหล่านี้ไม่รู้จักหวนกลับมาดูตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเองก็ควรจะหวนกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นอดีตของตน แล้วจะรู้ว่าเด็กคืออดีตของตัวเอง แม้เราแต่ละคน ก่อนที่จะใช้อำนาจบังคับเด็ก ก็ควรหวนกลับมาดูตัวเองเสียก่อนว่า “ในอดีตเราก็เคยเป็นเด็กมาก่อนและนำปฏิบัติอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันมาก่อนด้วย”เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรบังคับให้เด็กต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้เหมือนกับตัวเองซึ่งทำอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งที่ผมนำมากล่าวไว้ในขณะนี้ ตนได้เคยนำปฏิบัติมาแล้วและได้ผลอย่างจริงจังมาแล้วจึงกล้านำมาพูดมาเขียนฝากไว้ให้ทุกคนได้คิด

ประการสุดท้าย กระผมเห็นว่าในเอกสารที่ได้นำเสนอมานั้นมีการแบ่งแยกผู้แทนจากมหาวิทยาลัยทั้งหลายภายในภาพรวมออกไปเป็น 6 กลุ่ม ดังเช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  มหาวิทยาลัยราชภัฏ  วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเอกชนฯลฯ ล้วนแล้วเป็นการแบ่งตามแนวตั้ง อันจะนำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวกจนกระทั่งแตกแยกความสามัคคีในที่สุดเพราะนับวันการปฏิบัติย่อมทำให้เกิดความไม่สนใจที่จะเรียนรู้ความจริงจากใจตนเองทำให้ความสามัคคีเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น แทนที่จะเน้นความสำคัญของจิตใต้สำนึก หรือการแบ่งตามแนวนอนอันได้แก่คุณภาพภายในรากฐานจิตใจของแต่ละคนที่ควรรู้สึกว่า “ทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนตน”

ถ้าเช่นนั้นแล้วความหวังอันจะก่อให้เกิด “คุณธรรมประจำใจ”ก็คงมุ่งไปสู่ด้านตรงกันข้าม

กระผมเคยเขียนย้ำความสำคัญไว้ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างภายในภาพรวมของชีวิตมนุษย์ควรมองเห็นได้ 2 ด้าน และควรตระหนักได้ถึงความจริงว่าด้านไหนคือพื้นฐานของอีกด้านหนึ่ง”

ระหว่าง 2 ด้านนั้น ด้านที่อยู่ในรากฐานจิตใจตนเองคือพื้นฐาน ถ้าจิตใต้สำนึกตระหนักได้ถึงความเป็นคนควรรู้ได้ว่า ความแตกต่างอย่างหลากหลายที่ปรากฏเห็นได้จากภายนอกนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมมนุษย์ เราจึงไม่นำตัวเองไปยึดติดให้ทุกคนต้องเหมือนกัน หากย้ำถึงความสำคัญในการปฏิบัติที่เชื่อมโยงเหตุผลลงไปถึงส่วนลึกของรากฐานจิตใจตนเองว่า “เราควรทำอย่างดีที่สุดและรู้จักคำว่าพอเพียง ย่อมช่วยให้สังคมบังเกิดความสงบสุขได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

บทสรุป

สรุปแล้วภายในภาพรวมของการจัดการศึกษาถ้าหวังให้คนซึ่งเป็นผลิตผลได้รับการหลอมรวมเพื่อเจริญงอกงามขึ้นมาด้วยคุณธรรมประจำใจและจริยธรรมอันเกิดจากการนำปฏิบัตินั้นทุกคนซึ่งทำหน้าที่ในการจัดการจึงควรมุ่งมั่นละกิเลสภายในใจตนเองให้ได้จากการมีโอกาสสัมผัสกับความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์โดยถือหลัก “เอาชนะใจตนเอง”เป็นที่ตั้งขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสติปัญญารวมทั้งมีคุณงามความดีที่เจริญขึ้นมาจากรากฐานจิตใจตนเองให้เป็นผลสำเร็จ ช่วยให้มีความสุขในการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันภายในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะเน้นความสำคัญที่ชนรุ่นหลังรวมทั้งคนระดับล่างให้ได้

สิ่งนี้หรือมิใช่ที่ช่วยให้แต่ละคนสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องทุกข์ที่จะคิดสร้างกรอบที่มีเงื่อนไขด้วยเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้มันมีผลทำลายจิตวิญญาณของผู้อื่น อันจะนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายภายในสังคมอนาคตไปอย่างเปล่าประโยชน์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *