ประสบการณ์จากงานประชุมกล้วยไม้โลกของข้าพเจ้า

บทนำ
ตั้งแต่เล็กแต่น้อยจนกระทั่งเติบใหญ่ ผมโตขึ้นมาจากรากฐานความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างชัดเจนมาก ทั้งๆ ที่เกิดการดงวัตถุในกรุงเทพฯ และเกิดจากครอบครัวซึ่งมีหัวหน้ารับใช้ใกล้ชิดอยู่กับด้านบน แต่วิถีความคิดตนกลับมุ่งความรักลงสู่ด้านล่าง รวมทั้งชีวิตเพื่อนมนุษย์ซึ่งเติบโตตามมาภายหลัง

ผมไม่เคยสนใจที่จะตะเกียกตะกายขึ้นไปเรียนมหาวิทยาลัยเช่นหลายๆ คน และไม่สนใจที่จะวิ่งเข้าไปสมัครงานเพื่อรับใช้ราชการ หากมุ่งทำงานตามแนวคิดซึ่งตนมีอยู่ในรากฐานตัวเองอย่างมีความสุขมาโดยตลอด ส่วนการที่วิถีชีวิตถูกกำหนดให้ต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยก็ดี เสร็จแล้วออกไปทำงานแล้วยังถูกกำหนดให้ต้องเข้าไปอยู่ในระบบราชการก็ดี ล้วนเป็นเรื่องซึ่งเข้ามาหาเองทั้งสิ้น จึงช่วยให้ตนสามารถรักษาธรรมชาติในตัวเองไว้ได้อย่างชัดเจนตลอดมา

อนึ่ง การริเริ่มสร้างงานกล้วยไม้ ระหว่างช่วงแรกๆ ประมาณปี พ.ศ. 2490 หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ แม้ว่าอาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว อีกทั้งยังถูกรุมบีบคั้นจากคนกลุ่มเก่าซึ่งมีความเห็นแก่ตัว นำกล้วยไม้มาเป็นของเล่นและใช้เป็นเครื่องมือดูถูกเพื่อนมนุษย์ระดับล่าง รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นหลัง

แต่ตนก็มีสมาธิแข็งแกร่งพอที่จะยืนอยู่ท่ามกลางกระแสดังกล่าวได้อย่างมั่นคง และมุ่งปฏิบัติจากแนวคิดของตัวเอง รวมทั้งนำปัญหาต่างๆ ที่พบ มาวิเคราะห์ค้นหาเหตุผล จนกระทั่งความรู้สึกโดดเดี่ยวคลี่คลายลงไปและได้รับความชื่นชมยินดีกว้างขวางมากขึ้น

ผมยังจำได้ดีว่า การมุ่งมั่นทำงานจากรากฐานที่ละลดภาวะยึดติด ได้ช่วยให้ตนมองเห็นทางออกตามที่ปรารถนาตลอดมาโดยไม่มีสิ่งใดจะปิดกั้นไว้ได้ แม้ในช่วงนั้นตนจะถูกมองจากคนในด้านราชการว่า กำลังยุคนให้ปลูกกล้วยไม้ซึ่งเป็นวัชพืชทำลายเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง แม้กระทั่งผู้บริหารองค์กรต่างประเทศซึ่งเข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัยเกษตรเปรียบเทียบกล้วยไม้เสมือนเป็น แดนดี ไลออน (Dandy Lion) ซึ่งเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นระบาดอยู่ในไร่นาของสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่รังเกียจของเกษตรกรที่นั่น

ผมกับภรรยาได้ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างบ้านหลังเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่ง บนพื้นที่ดินภายในซอยพิชัยมนตรี (ซอย41) ถนนพหลโยธิน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มากนัก โดยที่ ช่วงนั้นยังมีสภาพทั่วๆ เป็นพื้นนาปลูกข้าว และไม่ลืมว่าจะต้องสร้างเรือนกล้วยไม้ไว้ใช้งานศึกษาค้นคว้าหาความรู้ตามความคิดของตนซึ่งใฝ่ฝันมานานแล้ว ช่วงนั้นผมไม่อาจรู้ไดว่าภรรยาเข้าใจผมได้ลึกซึ้งหรือเปล่า แต่ก็ยังคงตามใจผมทุกอย่าง

“แต่เปล่าเลยครับ” ไม่ใช่เอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหาเงินทองเพื่อความร่ำรวยของตัวเอง หากทำเพื่อต้องการนำความรู้ออกเผยแพร่สู่เพื่อนมนุษย์ อันเป็นที่รักดุจชีวิตอย่างปราศจากการเลือกพรรคเลือกพวก

ระหว่างนั้น บรรดาคนมีเงินและยศถาบรรดาศักดิ์ รวมทั้งพ่อค้านักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง ต่างก็ยังนิยมสั่งกล้วยไม้จาก ฮาวาย ซึ่งมีสภาพเป็นหมู่เกาะอยู่ในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเหตุที่บนเกาะนี้มีการปลูกและพัฒนากล้วยไม้ลูกผสมใหม่ๆ แปลกๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านั้น คนไทยกลุ่มนี้ยังนำเอาวารสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกล้วยไม้จากที่นั่นเข้ามาเผยแพร่เสมือนนำเอาพลังในการโฆษณาจากต่างถิ่นเข้ามาสร้างอิทธิพลทำให้ยึดติดอยู่กับมันมากขึ้น จึงทราบความจริงชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ทั้งต้นกล้วยไม้ลูกผสมและข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ได้บ่งบอกให้รู้ว่า ฮาวายนำกล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติไปจากเขตร้อนแหล่งอื่นๆ รวมทั้งจากเมืองไทยโดยที่มีคนไทยบางคนกอบโกยจากป่าส่งไปขายให้เขา แม้จะได้เงินมามันก็ไม่คุ้มค่ากันกับการที่เขาส่งต้นกล้วยไม้ลูกผสมเสร็จแล้วกลับมาขายให้เราในราคาแพงมากกว่าหลายเท่าตัว

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ผมนั่งอยู่ตรงบันไดหน้าบ้านหลังเล็กๆ นี้เอง สายตาก็มองไปยังเรือนกล้วยไม้ซึ่งวางขวางอยู่ด้านทิศตะวันออก โดยที่รู้ว่าภายในนั้นมีงานค้นคว้าทดลองซึ่งตนได้ทำไว้หลายอย่าง ส่วนมือสองข้างถือวารสารเล่มหนึ่ง ชื่อ นาปัว ออกิก้า (NAPUA ORKIKA) ออกโดยสมาคมกล้วยไม้ในฮาวาย

นอกจากภายในสิ่งพิมพ์เล่มนี้ จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ทางเทคนิคเรื่องกล้วยไม้แล้ว ยังมีข่าวคราวเกี่ยวกับกิจกรรมภายในวงการกล้วยไม้ท้องถิ่นด้วย ซึ่งคนไทยผู้สนใจกล้วยไม้ขณะนั้นเป็นส่วนใหญ่ มันตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ ทำให้ใฝ่ฝันที่จะสั่งซื้อกล้วยไม้ลูกผสมรุ่นใหม่ๆ นำเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

อนึ่ง สัจธรรมได้บอกให้ผมรู้แต่แรกแล้วว่า ของใหม่ – ในที่สุดมันก็กลายเป็นของเก่า และมีของใหม่ติดตามมาอีก ถ้าใครหลงตัวเอง ทำให้จำต้องตกลงไปสู่วังวนของมัน คงต้องล่มจมแน่ ยิ่งไปกว่านั้นหากมีคนในสังคมตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มากขึ้น ความรับผิดชอบก็จำต้องสูญไปเรื่อยๆ จึงพาสังคมล่มจมไปด้วย

ระหว่างที่ตนนั่งคิดคำนึงอยู่นั้น ก็บังเอิญเหลือบไปเห็นข่าว การประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 2 ที่นครโฮโนลูลู ฮาวาย ซึ่งพึ่งเสร็จสิ้นไปประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. 2500 ซึ่งขณะนั้น ผมเริ่มนำความรู้ที่ได้รับจากงานค้นคว้าวิจัยขั้นพื้นฐานจากในบ้านตัวเอง ออกมาเผยแพร่ได้ประมาณ 3 ปีเห็นจะได้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ตนไม่ได้เริ่มจับงานกล้วยไม้เพราะมีอิทธิพลสิ่งใดจากภายนอกมาล่อ หากเกิดจากจิตสำนึกเกี่ยวกับส่วนรวมมากกว่า

ขณะนั้น ถ้ามองไปที่ฮาวาย ผมมีใจจรดใจจ่ออยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเกิดจากความใฝ่ฝันที่จะได้มีโอกาสเห็นว่า ที่นั่นมันมีดีอะไรนักถึงได้มีคนสนใจจะมาซื้อกล้วยไม้มาปลูก ประกอบกับตนมีนิสัยชอบสร้างจินตนาการในด้านศิลปะ เรื่องที่สอง ผมมองที่การจัดงานกล้วยไม้โลกอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้ ยิ่งมองดูรูปในหนังสือซึ่งถืออยู่ในมือ แล้วเห็นภาพ สาวชาวพื้นเมืองของฮาวายแต่งชุดมูมู่แสดงการรำพื้นบ้านให้แขกที่มางานเกิดความรู้สึกเป็นกันเอง กับสภาพท้องถิ่น เพื่อสร้างความประทับใจโดยที่หวังว่าคนเหล่านี้จะกลับมาอีก

ความสนใจตรงนั้น มันบ่งบอกถึงความรู้สึก ซึ่งอาจกล่าวว่า “ผมเข้าถึงจุดหวนกลับมาตั้งแต่อายุยังไม่มากนัก” เพราะแทนที่ว่า สนใจแล้วจะคิดว่า ตนจะต้องไปงานนี้ให้ได้ มิวันใดก็วันหนึ่ง กลับคิดอีกด้านหนึ่งว่า ตนเป็นคนตัวเล็กๆ แค่นี้ คงไม่มีโอกาสเข้าไปถึงตรงนั้น แต่แทนที่จะหยุดนิ่ง กลับคิดอีกด้านหนึ่งว่า อย่าไปสนใจมันเลยสู้ทำงานในสิ่งที่ตนรักต่อไปจะดีกว่า นี่แหละครับคือสิ่งที่เรียกกันว่า “สมาธิ”

จุดนี้นับเป็นสิ่งสำคัญมาก ใครมองได้ลึกจึงจะเห็นความจริง ดังเช่นที่มีผู้ใหญ่บางคนกล่าวไว้ว่า เพราะไม่สนใจจะได้ จึงได้ ถ้าอยากได้ย่อมไม่ได้

ยังครับ กระแสล่อใจจากฮาวายมันยังไม่จบแค่นั้น ถ้าดูจากหนังสือวารสารกล้วยไม้ที่ถูกส่งมากรุงเทพฯ เป็นช่วงๆ เขาจะกล่าวถึงบุคคลดังๆ ในวงการกล้วยไม้ที่นั่น เช่น เอ็ม.มียาโมโต้ เบ็น.โกดาม่า. จอนนี่ นัว ยามาด้า และ คามีโมโต้ ซึ่งคนนี้เป็นนักวิชาการคนสำคัญของภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยฮาวาย ที่มีผลงานค้นคว้าวิจัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ที่ผมจำชื่อคนเหล่านี้ได้จนขึ้นใจก็เพราะเหตุว่า มีจิตใจจรดจ่ออยู่กับผลงานในด้านกล้วยไม้ของฮาวาย ประกอบกับตนรับเอาอิทธิพลโฆษณาเกี่ยวกับดอกไม้และสภาพบรรยากาศของเสียงเพลง ตลอดจนธรรมชาติของเกาะทะเลใต้เข้าไปไว้ในความรู้สึกใฝ่ฝันอย่างลึกซึ้ง แต่อีกใจหนึ่งซึ่งอยู่ในส่วนลึกก็รู้สึกต่อต้าน โดยที่คิดว่า ทำไมหนอ บ้านเขาเมืองเขาไม่เห็นมันมีกล้วยไม้อะไรเป็นโล้เป็นพายซักเท่าไหร่เลย เท่าที่มองเห็นล้วนมาขนไปจากที่อื่นแทบทั้งนั้น แต่เรากลับไปนิยมสิ่งที่เขาส่งมาขาย ทำไมเราถึงได้ไม่คิดทำเองได้บ้าง?

 | | | อ่านต่อ | | || | | ดาวน์โหลด | | |

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *