ประวัติชีวิตและงาน

ประวัติชีวิตและงาน

——-ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2466 ณ ตำบลวรจักร อำเภอป้อมปราบ กรุงเทพฯ. เป็นบุตรคนโตของ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุท (เนื่อง สาคริก) ข้าราชการในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจหลวง ในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ คุณแม่สนิท ภมรสูต สมรสกับ นางสาวกัลยา มนตริวัต บุตร พลตำรวจตรีขุนพิชัยมนตรี อดีตหัวหน้าเสรีไทยค่ายกาญจนบุรี และรองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม

การศึกษา

——-พ.ศ. 2469 เริ่มการศึกษาประถมศึกษาที่โรงเรียนสามเสนวิทยาคาร แล้วย้ายโรงเรียนเรื่อยมาอย่างหลากหลายไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง ทั้งโรงเรียนใหญ่และโรงเรียนเล็ก

——-พ.ศ. 2480 ระหว่างเรียนอยู่ชั้นมัธยม 7 กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรมัธยมบริบูรณ์จาก ม. 8 มาเป็น ม. 6 โดยตัดเอา ม. 7 และ ม. 8 ไปไว้เป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย แต่ก็อนุญาติให้ผู้ที่เรียน ม. 7 และ ม. 8 อยู่เดิมผ่านไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย กลับตัดสินใจย้อนกลับมาเรียน ม. 6 อีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ผลการเรียนวิทยาศาสตร์อยู่ระดับสูงมาก แต่ก็ไม่สนใจคิดจะเรียนให้ได้ที่หนึ่งในชั้น เพราะไม่ต้องการเอาดีเหนือคนอื่น หากรู้และเข้าใจวิชาไหนจะนำมาสอนเพื่อนๆ อย่างไม่ปิดบัง

เรียนซ้ำชั้นมัธยมบริบูรณ์อีก 2 ปี และได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการ 2 ใบ โดยแบ่งเวลาไปสนใจงานด้านศิลปะ เช่นดนตรี เขียนภาพ ปลูกต้นไม้ และคิดประดิษฐ์สิ่งต่างด้วย

——-พ.ศ. 2483 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้าไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ และผ่านการสอบคัดเลือกหลังจากเข้าเรียนแล้วระยะหนึ่ง

——-พ.ศ. 2485 เข้าศึกษาต่อในคณะเกษตร วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมาถึงปี พ.ศ. 2486 เข้าเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ก็มีประกาศสถาปนาวิทยาลัยขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย (หลักสูตร 5 ปี )

——-พ.ศ. 2490 จบปริญญาตรีกสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต สาขาปฐพีวิทยา จากการทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาเทียบวิเคราะห์ดินภาคกลางของประเทศไทยทางเคมีและฟิสิกส์ 5 วิธี
เข้าพิธีสมรส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2490 กับนางสาวกัลยา มนตรีวัต

ชีวิตการทำงาน

——-พ.ศ. 2490 หลังจบการศึกษาได้สะท้อนพฤติกรรมให้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน โดยผู้บริหารได้เสนอตำแหน่งบรรจุเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ในกรุงเทพฯ. แต่กลับตัดสินใจออกไปทำงานค้นคว้าวิจัยที่สถานีทดลองกสิกรรมที่แม่โจ้ โดยมีฐานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว เช่นคนงานระดับล่าง ซึ่งในช่วงนั้น ที่นั่นยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา หากมีสภาพเป็นชนบทมาก ได้ถูกมอบหมายให้ทำงานวิจัยเรื่อง พันธุ์ข้าว ผัก และยาสูบ และให้ความสนใจใช้ชีวิตร่วมทำงานกับงานที่พื้นดินอย่างสม่ำเสมอ และเป็นผู้ริเริ่มนำความรู้เกี่ยวกับการวางแผนวิจัยและสถิติวิเคราะห์ผลทางชีววิทยา มาใช้กับงานค้นคว้าการเกษตรเป็นครั้งแรกที่นั่น

——-ช่วงเดียวกัน ได้ใช้เวลาว่างและทุนส่วนตัวเริ่มต้นจับงานค้นคว้าหาความรู้เรื่องกล้วยไม้ให้แก่ประเทศไทยอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก จากแรงดลใจที่เห็นคนเก็บกล้วยไม้ป่ามาขายส่งให้คนกรุงเทพฯ. เพื่อส่งไปขายต่อให้คนต่างชาติ กับอีกด้านหนึ่ง ก็มีการสั่งกล้วยไม้ลูกผสมจากต่างประเทศมาขายให้กลุ่มคนมีเงินนำมาเล่นและประกวดกันเอง โดยที่พบว่า ส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ลูกผสมซึ่งนำเข้ามา มีพ่อแม่พันธุ์ซึ่งเก็บจากป่าในประเทศส่งไปขาย

——-พ.ศ. 2492 ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในกรมกสิกรรมที่กรุงเทพฯ. แต่ตัวยังคงทำงานอยู่ที่เดิม และมีข้อสังเกตว่า เป็นผู้ซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก

——-พ.ศ. 2493 ถูกสั่งย้ายครอบครัวเข้ากรุงเทพฯ. ด้วยเหตุผลว่า ต้องการนักวิจัยมือดีมาช่วยทำงานปูพื้นฐานการการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทย เนื่องจากรัฐบาลรับนโยบายมาจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติให้เป็นแหล่งผลิตข้าวเลี้ยงชาวโลก
และเป็นอาจารย์สอนวิชา ข้าว และสอนวิชา การวางแผนวิจัยและสถิติวิเคราะห์ทางชีววิทยา ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อาจารย์พิเศษประจำวิชา)

——-พ.ศ. 2495 เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาวงการกล้วยไม้ของไทย โดยใช้เงินรายได้ส่วนตัวซึ่งขณะนั้นมีไม่มากนัก และใช้เวลาว่างจากงานประจำ มีการค้นคว้าวิจัย การให้บริการฝึกอบรม เผยแพร่ความรู้ และถัดมามีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ หลังจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 (ช่องแรกของประเทศเปิดดำเนินการ) และจัดรายการวิทยุกระจายเสียง รวมทั้งออกสิ่งพิมพ์เผยแพร่ โดยมุ่งที่ความชอบธรรมของชีวิตประชาชน

——-พ.ศ. 2496 ได้รับทุนเอ.ไอ.ดี ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปศึกษาดูงานการวิจัยและการผลิตข้าวในมลรัฐภาคใต้ของประเทศ หลังจากมาแล้วได้ไม่นาน ทางการก็ส่งไปรับการฝึกอบรม เรื่องการวางแผนวิจัยและสถิติวิเคราะห์ทางเกษตร ณ ศูนย์ฝึกอบรมขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศอินเดียและกลับเข้ามารับการฝึกอบรมวิชา การคัดตรวจคุณภาพข้าว ศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดขึ้นในกรุงเทพฯ.

——-ในช่วงนั้นมีการจัดตั้ง กรมการข้าว จึงถูกย้ายมาสังกัดกรมการข้าวและรับตำแหน่ง หัวหน้าแผนกการโรงสี ซึ่งมีโรงสีข้าวทดลองอยู่ในบริเวณซึ่งปัจจุบันคือ ที่สระน้ำหน้าอาคาร หอสมุดกลางของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพข้าวขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากงานค้นคว้ายังได้ใช้สถานที่นี้ เป็นที่ฝึกสอนและให้นิสิตทำวิทยานิพนธ์ด้วย

——-ระหว่างนั้น ได้ใช้พื้นที่ด้านหลังโรงสีทดลอง ปลูกเรือนต้นไม้ให้นิสิตที่ขอรับการฝึกอบรม ได้ใช้เป็นที่ปลูกกล้วยไม้ในยามว่างด้วย จนมาถึงช่วงชี้แนวทางและสนับสนุนให้คนทั่วไปสามารถใช้กล้วยไม้ทำประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งให้มีการรวมกลุ่มกิจกรรมกันเองอย่างอิสระโดยมุ่งทำงาน ทวนกระแสค่านิยมเก่า ซึ่งมีความเชื่อเน้นความสำคัญอยู่ภายในกรอบของอาหารที่กินในด้านเดียวมานาน
พ.ศ. 2500 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มความคิดจัดตั้ง แผนกวิชาพืชกรรม (ภาควิชาพืชสวนปัจจุบัน) จึงได้ขอตัวจากกรมการข้าวมาสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสอนวิชากล้วยไม้ในหลักสูตร จากพื้นฐานทั่วไป และช่วงถัดมาแยกออกไปเป็น วิชาการผสมและการปรับปรุงพันธุ์ จนถึงวิชาการจัดการและการค้ากล้วยไม้ และใช้วิธีการนำนิสิตลงทำงานให้บริการแก่ประชาชนร่วมกับอาจารย์ด้วย

——-ผลงานได้กระจายไปสู่มุมกว้างจนเป็นที่ทราบกันทั่วโลก และจากปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมาได้ถูกเชิญเป็นผู้บรรยายทางวิชาการในที่ประชุมกล้วยไม้โลกซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยหมุนเวียนไปตามประเทศต่างๆ ทุกครั้ง จนถึงปี พ.ศ. 2521 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพรองรับการประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมและมีกิจกรรมการแสดงทางวิชาการระดับโลกขึ้นในประเทศไทย

——-พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทาน เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดในด้านวิชาการ

——-พ.ศ. 2512 จากปัญหาความสับสนรุนแรงในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้รับการขอร้องให้เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงนั้นมีหน้าที่บริหารทั่วไป ถัดมาจึงมีการปรับระบบการบริหารใหม่ โดยยุบตำแหน่งเดิม และเปลี่ยนมามีรองอธิการบดีแยกการรับผิดชอบเป็นสายงาน จึงดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายธุรการ

——-พ.ศ. 2513 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ. ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ โดยไม่ต้องผ่านผู้ช่วยและรองศาสตราจารย์มาก่อน

——-พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 สมัย

——-พ.ศ. 2520 ได้รับโปรดเกล้า ฯ. ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

——-พ.ศ. 2521 เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการนำงานประชุมกล้วยไม้โลกมาจัดในประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดประชุมวิชาการระดับโลก

——-เป็นประธานกรรมการจัดงานประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 ซึ่งมีการจัดแสดงพันธุ์กล้วยไม้จากทั่วโลกร่วมด้วย มีผู้เดินทางมาร่วมงานกว่า 3,000 คน จาก 50 ประเทศ โดยใช้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์ประสานงานจากการอนุมัติของรัฐบาล แต่ไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากรัฐแม้แต่น้อย แต่ผลการจัดงานได้ทำให้มีเสียงจากประเทศต่างๆ กล่าวขวัญถึงและมักหยิบยกมาเป็นแบบอย่างจนถึงปัจจุบัน

——-พ.ศ. 2522 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

——-พ.ศ. 2523 พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี และรัฐมนตรี สมัครใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่ภาควิชาพืชสวนอย่างเรียบง่าย และมีผู้มาทาบทามให้รับตำแหน่งประธานสภาข้าราชการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และระหว่างนั้นได้มีส่วนริเริ่มจัดตั้ง ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

——-พ.ศ. 2533 ตัดสินใจลาออกจากประธานสภาข้าราชการฯ. และลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ และตั้งสัจจะไว้ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ที่มีอามิสและอำนาจอีกต่อไป ยกเว้นองค์กรการศึกษา และสาธารณกุศล ได้รับการทาบทามให้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของทบวงมหาวิทยาลัย และมีการต่อวาระละ 2 ปี เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2531 รวม 4 วาระ และในช่วงนี้ ได้รับพิจารณาให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยที่มีการต่อวาระให้เรื่อยมา จนถึง พ.ศ. 2533 จึงได้ประกาศลาออกหมด

——-หลังจากนั้น จะมีการรับเชิญร่วมกิจกรรมสัมนา ประชุมวิชาการ เป็นผู้บรรยายพิเศษในที่ต่างๆ ทั้งจากสถาบันการศึกษา ราชการ เอกชน และองค์กรอาสาสมัคร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาซึ่งเน้นชนบทและเยาวชน และเน้นที่คุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง ซึ่งถือปฏิบัติอย่างมั่นคงมาตลอดชีวิต

——-นอกจากนั้นการได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมในต่างประเทศเท่าที่เป็นมาแล้วก็ยังคงดำเนินต่อมา และนำเอาข้อมูลซึ่งไปพบเห็นกับมาผสมผสานกับรากฐานความคิดตนเองนำออกเผยแพร่สู่ประชาชนทุกรูปลักษณะ รวมทั้งใช้ในโครงการซึ่งมีส่วนร่วม อีกทั้งให้ความสนใจใช้ชีวิตสัมผัสกับระดับพื้นดินอย่างต่อเนื่องด้วย

——-ปัจจุบันมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการเชื่อมโยงแนวคิดในการอนุรักษ์กับการพัฒนาให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม.
วุฒิที่ได้รับ

1. ได้รับพระราชทาน เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดในด้านวิชาการ เมื่อปี พ.ศ. 2511
2. ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในตระกูล The Sacret Of The Ring Sun ชั้นสูงสุดจากสมเด็จพระจักรพรรดิ์ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2526
3. ได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก
1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร แม่โจ้ เชียงใหม่
3. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาการจัดการการผลิตพืช
4. ได้รับ Gold Medal – Veitch Memorial จาก Royal Horticultural -Society ประเทศอังกฤษ
5. ได้รับ Gold Medal Award จาก South East Asia Orchid Society ประเทศสิงคโปร์
6. ได้รับ Silver Medal Award จาก American Orchid Society.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *