สกุลสาคริก

สกุลสาคริก

สกุลสาคริกเป็นนามสกุลขุนนางเก่าสกุลหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมง-กุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯพระราชทาน และเรื่องราวความเป็นมาของบรรพชนในสกุลนี้ก็มีความน่าสนใจ และทายาทของคนในสกุลรุ่นปัจจุบันก็ได้สร้างคุณงามความความดีแก่สังคมไทยไม่น้อย ดังเช่นศาสตราจารย์ระพี สาคริก นักคิด นักปรัชญาคนสำคัญของสังคมไทยท่านหนึ่ง ซึ่งท่านก็ได้กรุณาเล่าถึงความเป็นมาของสกุลว่า

“ตามที่คุณพ่อของผม พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ได้ค้นคว้าและบันทึกไว้คือ ตอนตั้งกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ผู้ก่อตั้งก็คือคนดีกลุ่มหนึ่งที่มาจากกรุงศรีอยุธยา กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 ทรงปราบปรามศึกสงครามจนค่อยสงบแล้ว จึงได้ทรงแต่งตั้งให้พี่น้องสามคนชาวบางช้างที่มีความดีความชอบในราชการสงครามเป็นเจ้าเมือง โดยพี่ชายคนใหญ่เป็นเจ้าเมืองสาครบุรี ต่อมาเป็นสมุทรสาคร ท่านผู้นี้เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล สาคริก พี่ชายคนกลางเป็นเจ้าเมืองสมุทรสงคราม ท่านเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล ณ บางช้าง และน้องคนเล็กเป็นเจ้าเมืองสงขลา เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล ณ สงขลา

“ค่ำว่า สาคริก มีความหมายว่า เป็นชาวเมืองสาคร และเหตุที่มิได้ใช้คำว่า ณ สาคร เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 6 องค์ผู้พระราชทานนามสกุลให้สกุลเรานั้น รับสั่งแก่คุณลุงพระยาบริหารราชมานพ (เนียน สาคริก) ซึ่งเป็นผู้ขอพระราชทานว่า ‘ความจริงเจ้าก็ควรจะใช้นามสกุลว่า ณ สาคร แต่เมื่อข้าได้ให้ใช้สาคริกไปแล้วก็เห็นว่าเก๋ดีเหมือนกัน อย่าน้อยใจเลย’ ทรงอธิบายว่า ทรงนำคำ ‘สาคร’ จากชื่อเมือง ‘สาครบุรี’ ซึ่งต้นตระกูลเคยเป็นเจ้าเมือง มาเติมสระ ‘อิ + ก’ จึงเป็นสาคริกซึ่งจะทำให้หมายถึงบุคคล เช่นเดียวกับคำว่า สถาปนา-สถาปนิก และพุทธศาสนา-พุทศาสนิก ดังนั้นเมื่อสาครหมายถึงทะเล สาคริกจึงหมายถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับทะเล คือเป็น ‘ชาวทะเล’ หรือ ‘ลูกน้ำเค็ม’ เช่นทหารเรือ ชาวเรือ (เดินทะเล) ชาวประมง ฯลฯ

“ประวัติของคุณพ่อนั้น ท่านเกิดในครอบครัวของข้าราชการชนบท และเนื่องจากคุณปู่ – ขุนคลัง (หนู) เป็นนายอำเภอ ต้องย้ายไปประจำหลายท้องที่ คุณปู่มีภรรยาคนแรกชื่อเงิน มีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง คือคุณลุง ต่อมาภรรยาท่านเสียชีวิตระหว่างที่ท่านรับราชการอยู่เมืองสุพรรณบุรี คุณปู่ก็มาได้หญิงต้นห้องของคุณยาย ภรรยาของเจ้าเมืองสุพรรณชื่อแก้ว ซึ่งเป็นย่าของผม และคุณพ่อจึงได้เกิดที่เมืองสุพรรณนี่เอง พอคุณพ่อคลานได้ คุณย่าก็แยกทางกับคุณปู่ พร้อมกับหอบคุณพ่อลงมาอยู่สมุทรสาคร จนคุณพ่อพอจะรู้ความ คุณย่าก็แต่งงานใหม่กับชาวสวนที่ธนบุรีทิ้งคุณพ่ออยู่ที่สมุทรสาคร ที่โรงขายยาฝิ่นของสามี-ภรรยาคู่หนึ่งซึ่งเคยเป็นทนายหน้าหอของคุณทวด (หลวงอภัยสุนทรตาด) และคุณปู่มาก่อน สามี-ภรรยาคู่นี้รักและเลี้ยงคุณพ่อมา ซึ่งในวัยเด็กของคุณพ่อนั้นมีความเป็นอยู่ลำบากมาก ส่วนคุณปู่ หลังจากแยกทางกับคุณย่าก็ได้มีภรรยาใหม่ชื่อคืน มีลูกอีก 3 คน คือ คุณหญิงเลื่อน เทพหัสดิน ณ อยุธยา คุณอาสายหยุด (ญ) และคุณอาเพ็ชร (ช)

“พอคุณพ่ออายุได้ 7 ขวบ คุณย่าก็เสียชีวิต เมื่อคุณปู่ทราบก็มาติดต่อขอรับคุณพ่อจากคนที่เลี้ยงดูท่าน และส่งเข้ามากรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย) และอยู่กับคุณลุงซึ่งเข้ามารับราชการในราชสำนักอยู่ก่อนหน้า จากนั้นไม่นานคุณปู่ก็เสียชีวิต คุณพ่อจึงอยู่กับพี่ชายมาตลอด ระหว่างที่คุณพ่อเรียนหนังสืออยู่นั้น ท่านเรียนเก่งมาก สอบได้เป็นที่หนึ่งของรุ่น เมื่อเรียนจบก็ได้เข้าเฝ้าถวายตัวรับใช้ ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดเล็กวิเศษ ในกองมหาดเล็กตั้งเครื่อง (เสวย) กรมมหาดเล็กรับใช้ พร้อมกับเพื่อนนักเรียนอีก 3 คน คือ อั้น บุนนาค, ชิก บุนนาค และเฉลิม เศวตนันทน์

“ตามปกติแล้วนักเรียนที่เรียนดี เมื่อจบแล้วจะทรงส่งไปเรียนนอก แต่เมื่อคุณพ่อเข้าเฝ้าถวายตัวนั้นก็มีรับสั่งว่า ‘นักเรียนที่เรียนดีๆ จบแล้วต้องส่งไปเรียนต่างประเทศเสียหมด ข้าไม่ได้ไว้ใช้เลย เพราะฉะนั้นอ้ายเนื่องคนนี้ข้าจะไม่ส่งนอก จะเอาไว้ใช้เอง…’ และมีรับสั่งกับมหาดเล็กเด็กใหม่ทั้ง 4 คนว่า ‘เจ้าต้องถือว่า การที่เจ้าเรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนมาแล้วครั้งนี้ เป็นแต่เพียงหลักสูตรวิชาขั้นต้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เจ้าจะต้องศึกษาค้นคว้าหาวิชาความรู้ด้วยตัวของเจ้าเองต่อไป สุดแต่เจ้าจะถนัดทางไหนก็จงเรียนให้รู้แตกฉานในทางนั้นข้อสำคัญก็คือ รู้อะไรก็ต้องรู้ให้จริง จึงจะใช้ความรู้นั้นๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ จงจำไว้ ’

“คุณพ่อรับราชการสมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งสิ้นรัชกาล และเมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงขึ้นครองราชย์ก็ยังรับราชการต่อมาจนกระทั่งได้เป็นขุนตำรวจเอก พระมหากษัตรสมุห ในวัยที่ค่อนข้างหนุ่มอยู่มาก ราว 38 ปี บรรดาศักดิ์ของท่านจริงๆ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 คือ มหาเทพเสพกษัตรสมุห แต่ทรงถือว่าคำว่าเสพเป็นคำหยาบ จึงโปรดให้ตัดออก แล้วตำแหน่งท่านควรเป็น พระยา แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์จะตั้งพระยาแต่เฉพาะคนที่อายุสูงสักหน่อย จึงโปรดให้เป็นแค่พระ ทำหน้าที่ตำรวจวังในกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์

“คุณพ่อเป็นตำแหน่งนี้ได้เพียงไม่ถึงปีก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีกหกเดือนต่อมาก็ต้องยุบกรมนี้ไป

“เมื่อคุณพ่อต้องออกจากราชกาลแล้ว ท่านไม่มีทรัพย์สินอะไรสะสมมากมายเลย เพราะความที่เป็นคนซื่อสัตย์ ซื่อตรงมาก แล้วคุณสมบัติของท่านนี้ก็ทำให้คนที่เห็นคุณค่ามาเชิญท่านไปรับราชการที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย และองค์การสวนสัตว์ดุสิต จนกระทั่งท่านอายุมากจึงลาออก และท่านมีอายุยืนยาวมาจนเกือบหนึ่งร้อยปีเต็ม ขาดเพียง 11 วัน โดยท่านสิ้นไปเมื่อ พ.ศ. 2540

“คุณพ่อมีภรรยา 3 คน คนแรกคือคุณแม่ของผม (นางสนิท ภมรสูตร) นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง ศิลปบรรเลง) และนางเหรียญ ทองมินทร์ มีบุตรชาย – หญิง ทั้งหมด 10 คน ผมเป็นลูกชายคนโต คุณพ่อเลิกกับคุณแม่ตั้งแต่ผมอายุได้ 12 ปี ด้วยสาเหตุใดผมก็ไม่เคยถาม เพราะเด็กยุคผมไม่กล้าที่จะถามผู้ใหญ่เรื่องนี้หรอกครับ คุณแม่แยกไปเปิดร้านรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง จนกระทั่งผมเรียนจบมหาวิทยาลัยเริ่มรับราชการ และแต่งงานกับคุณกัลยา (มนตรีวัต) ผมก็ไปรับท่านมาอยู่ด้วย และช่วยเลี้ยงหลานทั้งสี่คน (รวิพรรณ,พีระพงศ์,วงษ์ระวี,มาลีกันยา) ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นคุณพ่อกับคุณแม่ไม่เคยพบหน้ากันเลย เวลาคุณพ่อมาเยี่ยมผมที่บ้าน คุณแม่ก็จะหลบหน้าไป จนกระทั่งคุณแม่เสียชีวิตคุณพ่อมารดน้ำศพและลูบหัวคุณแม่ ภาพนั้นผมยังชื่นใจมาจนถึงทุกวันนี้

“ชีวิตผมในวัยเด็ก จำได้ว่าไม่ค่อยได้พบหน้าคุณพ่อบ่อยนักเพราะท่านทุ่มเทกับงานในวังมาก แม้ต่อมาท่านจะเข้ารับราชการในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งท่านเคยบอกว่าผมเป็นลูกคนโต ถ้าเลี้ยงไว้กับตัวจะไม่ทำให้ดีเท่าที่ควร คุณพ่อจึงเข้มงวดกับผมมากส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ และไปฝากกับครูของคุณพ่อเลี้ยงต่ออีกอีก โตขึ้นมาก็ไม่ค่อยได้พบ แต่พอได้พบท่านจะพูดว่า ‘ฉันไม่มีสมบัติอะไรให้แกนะ นอกจากการศึกษา’ ซึ่งผมก็ทราบว่าท่านต่อสู้ชีวิตเพื่อให้ลูกได้มีโอกาสเรียนจนจบ และวิถีชีวิตท่านที่อยู่อย่างเรียบง่าย มองเห็นอะไรเป็นเรื่องงานเพื่อการเรียนรู้ไปแทบทั้งหมด ก็เป็นแบบอย่างให้ผมดำเนินตามมา โดยที่ท่านไม่เคยเอ่ยปากชมเลย เพราะท่านเกรงว่าทำให้เหลิง ลืมตัว

“จนกระทั่งท่านอายุได้ 80 ปี นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคุณพ่อกล่าวชมผสมกับคำขอบใจระหว่างที่เราอยู่ด้วยกันสองคนว่า ‘แป๋ว! ลูกได้ช่วยพ่อมากนะ’

“ซึ่งวิถีปฏิบัติของคุณพ่อและผมได้ปฏิบัติมา ก็หวังว่าลูกหลานในสกุลสาคริกทุคคนจะยึดเป็นแบบอย่างในการประพฤติตนตลอดไป”

จากหนังสือแพรวฉบับครบรอบ 25 ปี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *