การจัดการศึกษากับการแบ่งชนชั้น

เมื่อหยิบยกเอาประเด็นการแบ่งชนชั้นมาพิจารณา ก็เหมือนกันกับเรื่องประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะเหตุว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเขตร้อนหรืออีกนัยหนึ่งหากพูดอย่างสุภาพสักหน่อยก็อาจกล่าวว่าในประเทศที่กำลังพัฒนาแทนที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ประเทศด้อยพัฒนา” ซึ่งประเทศเหล่านี้ ต่างก็มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ประชากรมักตกอยู่ในความประมาท ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นภายในสังคมรวมทั้งตัวเอง มักมีแนวโน้มมองออกไปสู่ด้านนอกจนเป็นนิสัย ดังจะเห็นได้ว่าครั้งใดที่มีปัญหาเกิดขึ้นมักเรียกร้องหาผู้ที่จะมาช่วยแก้ไขจากภายนอก แทนที่จะหวนกลับมาพิจารณาทบทวนตัวเอง

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อปีพ.ศ. 2475ที่มีการปฏิวัติโดยกำลังทหารเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้วิเคราะห์ได้ว่าคนกลุ่มนั้นต้องการประชาธิปไตยจากภายนอกแทนที่จะหวนกลับมาหารากเหง้าอันหมายความถึง รากฐานประชาธิปไตยนั้นคืออิสรภาพที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคน จึงก่อให้เกิดความเมตตากรุณาแก่คนระดับล่าง อันที่จริงแล้วก่อนหน้าปี พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก็ทรงมีพระเมตตาแก่พสกนิกรอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะสามารถปกครองประชากรโดยเฉพาะในระดับพื้นดิน ซึ่งหมายความถึงชาวนาชาวไร่ให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร ทั้งนี้ก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คนกลุ่มนั้นน่าจะขาดการหวนกลับพิจารณาทบทวนตัวเองจึงได้กระทำไปอย่างประมาทขาดสติ
มาถึงเรื่องการจัดการศึกษาอันควรถือว่าคือพื้นฐานสำคัญในด้านความมั่นคงของชาติ จากเหตุการณ์ที่ทางการได้เชิญประชุมสัมมนากรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
อนึ่ง การจัดการดังกล่าวได้ปรากฏว่ามีคณะกรรมการคลังสมองของชาติเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายและโครงสร้าง ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏนั้น แม้จะถูกส่งแยกกันมาก็ตามแต่เนื้อหาสาระมีความสัมพันธ์ถึงซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังได้เขียนไว้ภายในเอกสารการประชุมของสถาบันคลังสมองของชาติที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนดังต่อไปนี้
คณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติให้เลือกคณะกรรมการบริหารสมัชชานายกสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 6 กลุ่ม ๆละ 2 คน มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเอกชน และวิทยาลัยชุมชน
อนึ่ง ฉันได้เขียนไว้ในบทความเกี่ยวกับการจัดการศึกษาหลายครั้งหลายหนแล้วว่า “จากความหลากหลายถึงความเป็นหนึ่ง” ซึ่งหมายความว่า หากภายในจิตใต้สำนึกมีความมั่นคงเข้มแข็งอยู่กับการซื่อสัตย์ต่อตนเองเป็นหนึ่งเดียวอย่างชัดเจนก็ควรจะเข้าใจและยอมรับได้ว่า แม้ด้านนอกจะมีความแตกต่างอย่างหลากหลาย แต่ก็สามารถปรับให้มีคุณภาพอันหมายถึงความรู้สึกเท่าเทียมกันได้ โดยที่เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของสังคมซึ่งจะให้ทุกคนเหมือนกันนั้นย่อมไม่ได้
ครั้งใดที่มีการประชุมวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” มาพิจารณา หลายคนมักมุ่งความสนใจโดยเน้นความสำคัญไปยัง “ความหลากหลายของพืชพรรณในธรรมชาติ” แทนที่จะหวนกลับมามองที่พื้นฐานธรรมชาติของ “มนุษยชาติ”ซึ่งมีความหลากหลายเป็นพื้นฐานและเป็นเหตุเป็นผลของทุกสิ่งทุกอย่าง
นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า คนในสังคมยุคนี้ไม่ค่อยจะมีแนวโน้มที่หวนกลับมาพิจารณาเรียนรู้จากการกระทำของตนเอง ซึ่งกรณีนี้ขัดกันกับหลักธรรมะอย่างสำคัญ เช่นเดียวกันกับการที่มีคนมักพูดกันว่าฉันเป็นคนใจเย็นเพราะอยู่กับต้นไม้ แต่แท้จริงแล้วไม่น่าจะใช่ หากมีใจเย็นเพราะอยู่กับความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์มากกว่า
ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน การแบ่งกลุ่มดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า ภายในจิตใต้สำนึกของคณะบุคคลอันควรถือว่าคือกุญแจสำคัญในการบริหารและจัดการเรื่อง การศึกษา ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์โดยตรง
แต่ผลจากการจัดกลุ่มได้สะท้อนให้เห็นว่ามีการแบ่งพรรคแบ่งพวก หรืออีกนัยหนึ่งคือการแบ่งชนชั้นโดยเรียงลำดับใกล้ไกลกับอำนาจของรัฐ ยิ่งในยุคนี้ผลจากการจัดการศึกษามีส่วนทำให้คนที่เป็นผลิตผลมีแนวโน้มแย่งชิงอำนาจระหว่างกันมากกว่าการสร้างศรัทธาอันหมายถึงคุณงามความดี นอกจากนั้นยังทำให้การด้อยโอกาสและการมีโอกาสต่ำกว่า-เหนือกว่าเข้าไปเกี่ยวข้องอีกด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในกระบวนการจัดการศึกษาซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหาภายในสังคมร่วมกับการพัฒนาคุณภาพทางจิตใจและความคิด หาใช่การพัฒนาบนพื้นฐานวัตถุไม่
ดังนั้น การจัดการศึกษา ณ โอกาสนี้ น่าจะสะท้อนภาพให้เห็นได้ชัดเจนถึงการแบ่งกลุ่มโดยมองสู่ทิศทางในด้านนอน “Horizontal” อันหมายถึงความเท่าเทียมกันซึ่งควรจะมีอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ไม่เช่นนั้นแล้วความรู้สึกนึกคิดแบบนี้อาจได้รับการซึมซับเข้าไปสู่จิตวิญญาณของคนส่วนใหญ่ที่รับบริการจากการจัดการศึกษา และแทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่สังคม กลับเพิ่มเงื่อนไขทำให้เกิดปัญหาหนักมากยิ่งขึ้น
ในอดีตได้มีบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาระดับสูงพระองค์หนึ่งได้ทรงลิขิตฝากไว้ว่า
คนเห็นคน เป็นคน นั่นแหละคน
คนเห็นคน ใช่คน ใช่คนไม่
กำเนิดคน ย่อมเป็นคน ทุกคนไป
จะแตกต่าง กันได้ แต่ชั่วดี
เพราะฉะนั้นการแบ่งกลุ่มดังกล่าว หาได้สะท้อนภาพปรัชญาให้เห็นได้ชัดเจนว่า ภายในจิตใต้สำนึกของกลุ่มบุคคลซึ่งทำหน้าที่จัดแบ่งกลุ่มนั้นได้ปรากฏชัดตามร้อยกรองบทนี้ไม่ ดังนั้นผลจากการปฏิบัติจึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นในด้านหนึ่ง กับการสร้างปมเขื่องขึ้นอีกด้านหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้มีความแตกต่างในด้านปริญญาและมีแนวโน้มที่เน้นปริญญาสูงๆด้วยแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเยาวชนคนรุ่นหลังผู้สมัครใจก้าวเข้ามารับบริการจากการจัดการศึกษานั้น วิญญาณคนเหล่านี้ที่ควรจะซื่อสัตย์ต่อตนเองกลับถูกรุมทำร้ายให้กลายเป็นคนสำคัญตัวเองผิดโดยที่ด้านหนึ่งก็คิดว่าตนมีความยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น ส่วนอีกด้านหนึ่งกลายเป็นคนมีปมด้อย
ยิ่งในยุคนี้สภาพดังกล่าวได้บานปลายกลายเป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ มักมีแนวโน้มให้ความสำคัญแก่การมีปริญญาสูงๆ ถึงขนาดบางแห่งได้กำหนดไว้ว่า “จะต้องรับครูอาจารย์ที่มีปริญญาเอกเท่านั้น” แต่แล้วก็ทำไม่สำเร็จ เพราะจะหาคนที่มีปริญญาเอกเข้ามาสมัครเป็นครูอาจารย์ก็ทั้งยากเลยจำต้องรับคนมีปริญญาโท ทำให้รู้สึกว่าเหตุการณ์ได้บานปลายออกไปกลายเป็นเรื่องความสับสน อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเสมือนตบหน้าตัวเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมไทย ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่มักไม่มองให้ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณมนุษย์คงมีแนวโน้มมองเห็นได้แต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น
ท่านที่เคารพทุกท่าน การเขียนเรื่องนี้กระผมต้องขอประทานอภัย หากผลที่ปรากฏมีเงื่อนปมกระทบจิตใจบุคคลใดก็ตาม ขอได้โปรดเข้าใจว่าตัวกระผมเองไม่มีเจตนาที่จะกล่าวร้ายแก่ผู้ใด คงมุ่งมั่นที่จะได้เห็นสังคมไทยได้รับการยกระดับให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น แทนที่จะตกต่ำลงไปจนกระทั่งทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก รวมทั้งการแบ่งสี จนถึงขั้นยกพวกฆ่ากันตายซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่สุด
ทั้งนี้สัจธรรมอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคมนั้น ถ้าใครมีปัญญาแตกฉานทำให้สามารถมองเห็นได้ลึกถึงระดับหนึ่ง ควรจะรู้ถึงความจริงได้ว่าแม้เรื่องเล็กน้อยก็สานถึงเรื่องใหญ่ อีกทั้งทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นสามารถสานเหตุและผลถึงกันได้หมดจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน หาใช่กำหนดกรอบเอาไว้ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่

7 กรกฎาคม 2553

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *