การจัดการศึกษาไทย ให้โอกาสหรือฆ่าวิญญาณเยาวชนกันแน่

ทุกวันนี้ ปัญหาในสังคมไทย นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น จากประสบการณ์ที่ชีวิตฉันผ่านพ้นมาแล้ว 88 ปี สิ่งที่นำมาเริ่มต้นคงไม่ใช่เพียง 5 ปี 10 ปี แต่เท่าที่ได้นำปฏิบัติมาตลอด ทำให้จำได้แทบทุกเรื่อง หากนำมาเรียงลำดับอย่างสอดคล้องกันกับความสัมพันธ์ก่อนหลัง คงสรุปได้ว่า ปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากคนไทยยึดติดอำนาจทำให้ดูถูกกันเอง โดยเฉพาะการดูถูกคนซึ่งชีวิตยังตกทุกข์ได้ยากรวมทั้งเยาวชนคนรุ่นหลังว่ามีความรู้น้อยกว่าตน

เมื่อยึดติดอำนาจ ไม่ว่าจะคิดทำการสิ่งใดก็มักเดินสวนทางกันกับหลักธรรมอันหมายถึง “ยกตนข่มท่าน” ฉันพูดมาตลอดว่า “ปัญหาเหล่านี้ ถ้าจะถามว่าใช้อะไรเป็นหลักในการแก้ไข ?” คำตอบก็คงมีอยู่เพียงประโยคเดียวว่า “ใช้หลักธรรมเท่านั้นที่จะคิดแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง”
ทั้งนี้ หลักธรรมไม่มียุคสมัย และไม่มีการแต้มสี แต่คนซึ่งทำหน้าที่แก้ไขจะต้องมีรากฐานจิตใจที่อิสระโดยไม่ยึดติดอยู่กับอัตตา และควรมีจิตใต้สำนึกที่รำลึกอยู่เสมอว่า “ทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนตน”
ซึ่งความรู้สึกดังกล่าว ย่อมมี 2 ด้าน เมื่อด้านในมีความรู้สึกว่าทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนตน ดังนั้นด้านนอกก็ย่อมยอมรับความแตกต่างอันเป็นธรรมชาติและควรถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา โดยไม่นำมาเรียกร้องเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตน
ดังจะพบความจริงว่า ในช่วงที่ฉันเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาในอดีต ฉันไม่เคยรู้สึกว่าชนรุ่นหลังคือชีวิตที่ต่ำกว่าตน จึงไม่ยกตนข่มท่าน แต่ฉันกลับพูดย้ำอยู่เสมอว่า “ครู (ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่ทุกคน) ถ้าขาดการตระหนักได้ว่า ลูกศิษย์คือครูตน แม้คนที่ชีวิตอยู่ระดับล่างเช่นชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ความเป็นครูและความเป็นผู้บริหารที่มีวิญญาณความเป็นมนุษย์ย่อมยังไม่เกิด”
ขณะนี้ ฉันได้กลิ่นโชยมาว่า ทางการจะจัดให้มีการประชุมผู้บริหารสถาบันการศึกษาระดับบน แต่ครั้นนำเอาเอกสารมาพิจารณา กลับทำให้รู้สึกเสมือนยิงหัวจรวดอาร์พีจีเข้าไปฝังไว้ในชุมชนคนรุ่นหลัง
เรื่องนี้มันยิ่งกว่าจรวดที่เป็นวัตถุ หากหมายถึงจรวดที่มันทำลายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของชนรุ่นหลังที่ควรสานเหตุและผลลงไปถึงชาวบ้านในระดับพื้นดินอย่างสำคัญ
ประการแรก หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่บ่นกันว่า “เยาวชนคนที่เข้าไปขอรับการจัดการศึกษานั้น หาได้ต้องการความรู้ไม่ หากต้องการปริญญาซึ่งเป็นกระดาษแผ่นเดียว” ฉันเชื่อว่าแม้ผู้บริหารการศึกษาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็ยังบ่นเรื่องนี้กันอยู่ หรือว่าบ่นไปอย่างนั้น แต่ไม่นำปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง ในเมื่อยังคิดกันแต่จะให้อาจารย์ทุกคนต้องได้ปริญญาด๊อกเตอร์ เช่นนี้ถ้ามองในภาพรวมแล้วก็เหมือนกับ “ปากอย่างหนึ่ง ใจอีกอย่างหนึ่ง”
ตัวฉันเองนับว่าโชคดีที่ได้ทุนมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ให้ไปเรียนเอาปริญญาเอกจากเมืองนอก แต่ไม่ยอมไป ไม่เช่นนั้นแล้วตัวเองก็อาจตกเป็นเหยื่อความคิดดังกล่าว ถ้ารากฐานจิตใจไม่เข้มแข็งพอ
ฉันคิดแต่เพียงว่า “การทำงานรับใช้แผ่นดินไทยอย่างจริงจังนั้น มันมีคุณค่าเหนือกว่าการทำวิทยานิพนธ์เพียงเพื่อต้องการปริญญาเอก ยิ่งจากเมืองนอกด้วยแล้วอย่างนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้” นอกจากนั้นยิ่งเห็นดีเห็นงามทำให้ตกอยู่ในความประมาทด้วยแล้ว หลังจากกลับมาสู่แผ่นดินแม่ของตัวเองก็อาจส่งผลทำลายจิตวิญญาณของตัวเองอันควรรู้รักรู้สามัคคีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
อีกไม่กี่วัน ได้ทราบว่าจะมีการประชุมผู้บริหารระดับสูง ด้วยจิตใต้สำนึกที่รำลึกถึงพี่น้องไทยซึ่งชีวิตยังตกอยู่ในสภาพที่ยากไร้ โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ การคิดที่จะนั่งประชุมกันอยู่ในระดับบนโดยไม่ลงมือปฏิบัติที่มุ่งสู่ด้านล่างและถือเป็นหลักอย่างสำคัญ ปัญหาที่มันเกิดขึ้นเท่าที่เป็นมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเกิดเรื่องใหญ่สีแดงแจ๋ผุดขึ้นมากลางสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าเรายังสำนึกไม่ได้ถึงบทเรียนที่มันสอนให้เราหวนกลับมาพิจารณาตัวเอง เราจะหวังให้ใครอื่นมาช่วยให้สังคมนี้มันดีขึ้นได้ยังไง
ฉันยังจำได้ดีว่า ช่วงที่ตัวเองบริหารงานสถาบันอุดมศึกษามาแต่อดีต ได้นำตนลงไปปฏิบัติการทำงานอยู่กับลูกศิษย์บนพื้นดินในชนบทอย่างสม่ำเสมอและไม่เคยใช้อำนาจกดหัวใคร แม้แต่ความรู้สึกภายในส่วนลึกของหัวใจที่ไม่เคยคิดดูถูกว่าชาวบ้านมีความรู้น้อยกว่าตัวเอง ก็ยังถูกบรรดาอาจารย์แม้ผู้บริหารคนอื่นหลายคนพูดกันว่า “เป็นอธิการบดี ไม่เห็นจะต้องลงไปทำเช่นนั้น” ครั้นฟังแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นกระแสเสียงนั้นมันมีวิถีทางที่ขัดกันกับหลักธรรมที่ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “จงยกผู้อื่นไว้เหนือตน”
ถ้าใครได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า “อนิจจาการจัดการศึกษาไทย” ซึ่งฉันได้เรียบเรียงฝากไว้แก่สังคมมาแล้วในอดีต หนังสือเล่มนี้ได้มีลูกศิษย์คนหนึ่งที่เขียนเอาไว้ในบทนำ ได้เขียนไว้ว่า“ฉันเป็นอธิการบดีที่ยกมือไหว้ลูกศิษย์ก่อนเขา”
ฉันต้องกราบขออภัยที่นำข้อความประโยคนี้มากล่าว หาใช่นำตัวเองขึ้นมาอวดคนอื่นไม่ เพราะฉันไม่ใช่คนที่มีนิสัยอวดดี แต่มันเป็นสิ่งซึ่งตนได้นำปฏิบัติมาแล้วจึงรู้แล้ว หากเป็นความจริงซึ่งหยิบยกมายืนยันเท่านั้น แม้การเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งนั้น ก็ใช่ว่าตนจะสมัครเข้ามาไม่ หากถูกขอร้องให้เข้ามารับ เมื่อรับแล้วก็ต้องรับผิดชอบทำอย่างดีที่สุดและกล้าพูดความจริง ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ไม่สมควร ก็คงพร้อมที่จะถอนตัวออกอย่างไม่รีรอ
ยังมีอีกหลายเรื่องที่ฝังอยู่ในเอกสารดังกล่าว และที่นำมาเขียนครั้งนี้ก็หาใช่ว่าต้องการจะตำหนิบุคคลใดหรือคนกลุ่มไหนไม่ หากประสงค์ที่จะได้เห็นคนในสังคมไทยได้รับโอกาสในการยกระดับสัจธรรมซึ่งทุกคนมีอยู่ในจิตวิญญาณตนเองเพื่อจะได้ช่วยให้ความคิดสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง
ประการสุดท้าย การกำหนดให้มีกรอบ แถมยังแบ่งพรรคแบ่งพวกเกิดขึ้นดังเช่น สถาบันของรัฐก็ไปกลุ่มหนึ่ง ของเอกชนก็ไปกลุ่มหนึ่ง ของราชภัฏก็ไปอีกกลุ่มหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วมุ่งไปในด้านตั้งหรือที่เรียกกันว่า “แบบแยกส่วน” แท้จริงแล้วเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น ถ้าจะถามว่าภายในจิตใต้สำนึกอันควรถือว่าคือรากฐานความคิดตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดนั้น การจัดการศึกษาจะแก้ปัญหากันยังไง ?
ยังมีเงื่อนปมอีกหลายอย่าง ดังเช่น “ทำโครงการอะไรก็ตาม มักมุ่งมาขอเงิน” ถ้าจะถามว่า “แล้วที่ทำอยู่ล่ะมันหายไปไหน ?” นี่แหละคือวิถีที่ควรหวนกลับมาสำรวจตัวเอง ถ้าไม่คิดดูถูกเรื่องเล็กว่ามันเล็ก หากคิดได้ว่า “เพราะมีเรื่องเล็กจึงได้เรื่องใหญ่ เพราะมีเรื่องใกล้จึงได้เรื่องไกล และเพราะมีเรื่องต่ำจึงได้เรื่องสูง” โดยไม่คิดดูถูกตัวเองที่หวนกลับไปดูถูกผู้อื่นซึ่งอยู่ต่ำกว่าตน
แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้หากรากฐานจิตใจอิสระก็ย่อมหยั่งรู้ความจริงได้ไม่ยาก เมื่อหยั่งรู้ความจริงได้ก็ย่อมนำปฏิบัติได้ทุกๆเรื่อง
“การนำปฏิบัติจากความจริงที่อยู่ในรากฐานจิตใจตนเอง ย่อมบังเกิดความสุข อีกทั้งยังมีผลพัฒนาสิ่งที่มันมีรากฐานอยู่ในจิตวิญญาณตนเอง แม้ไม่ได้พูดก็ยังช่วยให้เพื่อนมนุษย์ยอมรับได้สำเร็จ”

30 มิถุนายน 2553

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *