การเรียนรู้ให้ถึงความจริง(ชีวิตกับกล้วยไม้) ต้องกล้าสู้ทั้งสองด้าน (ตอนที่ 1)
สัจธรรมของทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีสองด้าน ด้านนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น ส่วนด้านในซึ่งหมายถึงรากฐานภายในจิตใต้สำนึกของแต่ละคนคือความจริงของชีวิตที่ควรรักษาไว้ให้มั่นคงที่สุด
แม้แต่ด้านนอกก็ยังมีสองด้านซึ่งแต่ละคนควรกล้าที่จะก้าวเข้าไปเรียนรู้ด้านใน แทนที่จะเอาแต่ด้านนอกแล้วโทษกันไปโทษกันมาบนพื้นฐานที่มันหลอกตัวเอง
ถ้าฉันจะใช้กล้วยไม้เป็น “สื่อสมมติ”ที่จะเรียนรู้ให้ถึงความจริง ตัวฉันเองต้องกล้าปลอมตัวเข้าไปเป็นคนขายกล้วยไม้ ซึ่งเรื่องนี้เราจะต้องมีความเข้มแข็งหากมีคนพูดว่าฉันเป็นพ่อค้าขายกล้วยไม้ แต่แท้จริงแล้วฉันต้องการรู้ปัญหาเรื่องคนมากกว่า ดังนั้นฉันจึงต้องพยายามใช้ความอดทนให้มากที่สุด
เธอรู้หรือเปล่าว่าก่อนที่ฉันจะรู้เล่ห์เหลี่ยมในการค้ากล้วยไม้กับคนพวกนี้ ฉันจะต้องกล้าเข้าไปยืนอยู่ด้านในและยอมให้คนพวกนี้ตำหนิติเตียน บางครั้งก็หนัก บางครั้งก็เบา แต่ใจฉันเองมีความมั่นคงอยู่กับสิ่งซึ่งตนต้องการเพื่อนำมาใช้เป็นความรู้สู่ประชาชน
ฉันเริ่มคิดค้าขายกล้วยไม้ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี ซึ่งขณะนั้นความคาดฝันของคนทั่วไปกำลังคิดว่า ถ้าปลูกกล้วยไม้ขายแล้วจะรวย ฉันก็เริ่มปลูกกล้วยไม้อีกทั้งคิดจะขายด้วย แต่ภายในรากฐานจิตใจนั้นเรื่องความรวยความจนไม่เคยมีในโลกใบนี้หากยังมั่นคงอยู่กับสัจธรรม
ความใฝ่ฝันของฉันมันหยั่งรากฐานลงลึกชนิดที่ถอนออกได้ยาก ดังนั้นหลังเรียนจบหลักสูตร 5 ปีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2490 บังเอิญในปีนั้นมีคนเรียนจบเพียง 2 คน เพราะขาดประสบการณ์ในการทำวิทยานิพนธ์ และหนึ่งในสองคนก็คือตัวฉันเอง แถมยังจบสาขาดินและปุ๋ยซึ่งเป็นคนเดียวและเป็นคนแรกของเมืองไทย
ในช่วงนั้นคนเป็นครูอาจารย์สอนก็ยืมตัวมาจากกระทรวง ทบวง กรม เมื่อมีคนจบหลักสูตรคนแรกมหาวิทยาลัยก็อยากได้ถึงกับต่อรองกันว่า ถ้าอยู่มหาวิทยาลัยก็จะมีตำแหน่งและอัตรารองรับ แต่ถ้าออกไปอยู่ในชนบทก็จะเป็นเพียงลูกจ้างแบบคนงาน
แต่เป็นเพราะรากฐานของฉันมันลึกซึ้งและมั่นคง ฉันจึงตอบสวนกลับไปว่า “ต้องการไป”
ความจริงแล้วความรู้สึกนึกคิดที่จะใช้กล้วยไม้เป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์นั้นมันไม่ได้สั่นคลอน หรือสูญหายไปไหนจึงทำให้ฉันได้ไปอยู่เชียงใหม่สมดังความปรารถนา
เขาว่าเมืองเชียงใหม่นั้นมีกล้วยไม้สวยๆ งามๆ อย่างหลากหลาย ในชั้นแรกทำให้ตัวฉันเองมีโอกาสเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมชนบท อันควรถือว่าคือพื้นฐานสำคัญที่สุดสำหรับความมั่นคงทั้งของครอบครัวและชาติบ้านเมือง
ฉันได้มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมบทแรกของชีวิตและสังคม โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นจากของจริงที่สะท้อนออกมาปรากฏว่า “ชุมชนท้องถิ่นนั้น ไม่ว่าจะไปตั้งรกรากอยู่ที่ไหนก็ตาม ย่อมมีโอกาสใช้ธรรมชาติของที่นั่นเพื่อการดำรงชีวิต รวมทั้งสร้างความสุขทางจิตวิญญาณให้แก่ตัวเอง”
ดังเช่น “น้ำ”เป็นต้น ไม่ว่าจะมีแหล่งน้ำอยู่ที่ไหน มนุษย์ก็ย่อมไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่นเป็นธรรมดา ดังเช่น สถาบันการศึกษาเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้ ซึ่งแท้จริงแล้วชื่อ “แม่โจ้”ก็คือชื่อลำห้วยที่มีน้ำไหลลงไปสู่แม่น้ำปิง
อีกประการหนึ่ง เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีกล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติอยู่อย่างหลากหลาย ดังนั้นจึงมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านการเกษตรถึงกับหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรแล้ว เกษตรกรชาวบ้านก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ แล้วนำเงินจากการขายพืชผลส่วนหนึ่งไปเข้าวัดทำบุญ
ฉันได้พบคนแต่ละกลุ่มใช้ดอกกล้วยไม้พื้นบ้านประดับเรือนผมบ้าง ส่วนต่างๆ ของร่างกายบ้าง หลังจากนั้นจึงตั้งขบวนแห่ฟ้อนรำเพื่อเข้าไปสู่ลานวัด นอกจากนั้นยังมีการตีกลองยาวเป็นจังหวะๆ แทบทุกวันในเดือนพฤศจิกายน –กุมภาพันธ์ เรามักได้ยินเสียงฆ้องกลองตีเป็นจังหวะๆ ดังมาแต่ไกล
ซึ่งเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกาเองคนมีอาชีพทำเกษตรเป็นส่วนใหญ่ หลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลแล้วพวกเขาไม่มีวัดจะไปทำบุญ แต่ทำลานการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน ฉันได้เห็นคนพวกนี้เล่น “ล้อต๊อกไม้สั้นไม้ยาว”เจ้ามือบางคนเป็นผู้หญิงสาวแต่สักมังกรพันแขนซึ่งพิธีการแบบนี้มันก็ไม่ต่างจากประเพณีไทยเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตามฉันขออนุญาตหวนกลับมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ภาพเกษตรกรชาวบ้านที่ตั้งขบวนฟ้อนรำขบวนเล็กๆ แล้วแห่กลองยาวไปเข้าวัด ซึ่งแต่ก่อนเคยได้ยินเสียงกลองดังมาแต่ไกลแทบทุกวัน ในที่สุดมันก็ค่อยๆ จางหายไป
อย่างไรก็ตามเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับกล้วยไม้คนเชียงใหม่แต่ก่อนก็ไม่ได้สนใจมากไปกว่าการเก็บกล้วยไม้ธรรมชาติจากป่าส่งไปขายต่างประเทศ ซึ่งแต่ก่อนก็มักโฆษณาหาเงินกันว่า เป็นกล้วยไม้จากเมืองนอกเพราะคนกรุงแต่ก่อนเห่อเมืองนอกมากกว่าให้ความสำคัญแก่ประเทศชาติของตัวเอง ฉันเริ่มรู้ความจริงว่าเมืองไทยกำลังส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่า ต่อไปภายหน้าเราอาจจะต้องเป็นทาสคนต่างชาติถ้าไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับใจตัวเองให้ได้สำเร็จ
ฉันไปอยู่เชียงใหม่ เสมือนการเคลื่อนไหวของฉันมันกำลังส่งสัญญาณบอกให้คนจำพวกที่เป็นพ่อค้าเก็บกล้วยไม้ป่าส่งขายต่างประเทศเริ่มรู้ตัว ฉันจึงกลายเป็นศัตรูตัวร้ายของพวกเขาไปโดยปริยาย
อนึ่ง ฉันบอกแล้วว่าการจะศึกษาหาความรู้เรื่องอะไรก็ตามจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งสองด้านซึ่งมีทั้งใหม่และเก่า ช่วงนั้นฉันไม่เคยเห็นกล้วยไม้ที่ส่งมาจากเมืองฝรั่ง อีกทั้งยังไม่รู้ว่าพ่อแม่กล้วยไม้เหล่านั้นมันเกิดในเมืองฝรั่งด้วย
ฉันอุตส่าห์สมัครใจเป็นพนักงานขับรถของทางราชการ เพื่อจะได้ขับรถสองแถวเข้าไปในเมืองเพื่อไปล้วงความลับในเรื่องต่างๆ ที่มันขวางหน้า แล้วนำมารวมกันเป็นตัวเป็นตนเพื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปอีก
ขึ้นแรก ฉันรู้ว่าเชียงใหม่สมัยก่อนยังมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องเพราะมีแต่คนในกลุ่มที่เกิดและตายที่นั่นจึงอยู่กันอย่างสงบเรียบร้อยโดยไม่มีอาชญากรรมแต่อย่างใด
ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ขโมยขโจรก็ยังไม่มี คงมีแต่ชาวบ้านที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
แม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองชนบทที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ แต่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีตลาดที่มักเรียกกันว่า “แบกะดิน”และติดตลาดกันในตอนเช้าตรู่เป็นประเพณี ฉันมักตื่นแต่เช้ามืดแล้วขี่รถจักรยานออกไปเดินคุยกับชาวบ้านแถบนี้อย่างมีความสุข ซึ่งตลาดแบบนี้มักมีข้าวนึ่ง ชิ้นปิ้ง รวมทั้งผักเล็กๆ น้อยๆ ที่เก็บมาจากในบริเวณหมู่บ้าน
ฉันรู้สึกประหลาดใจมากที่พบว่า ผู้เฒ่าผู้แก่แถบนั้นมักนิยมนำกล้วยไม้พื้นบ้านมามัดเป็นกำวางขายบนพื้นดิน
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ซื้อซึ่งเป็นชาวบ้านก็นิยมซื้อกล้วยไม้พวกนี้ติดมือกลับบ้านด้วย เพราะคนเดียวกันเป็นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ เขาเอาของติดมือใส่กระจาดมาขาย พอขายเสร็จก็เอาเงินที่ได้ส่วนหนึ่งซื้อกล้วยไม้ติดมือกลับบ้านไปอีกด้วย
ในสมัยนั้นแหล่งน้ำในหมู่บ้านก็ยังใช้บ่อขุดที่เรียกกันว่า บ่อน้ำลึก ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 1 เมตรกว่าๆ บ่อน้ำแบบนี้ใช้ทั้งกินทั้งอาบรวมทั้งซักผ้าล้างถ้วยล้างชาม แถมยังใช้รดกล้วยไม้ที่นำมาผูกติดไว้กับต้นไม้ใกล้เคียง
หวนกลับไปสู่กลางใจเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ความสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มันอยู่ในจิตวิญญาณของฉันถึงขนาดอาสาสมัครเป็นคนขับรถสองแถวเพื่อเข้าไปล้วงความลับภายในเมือง
ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ฉันก็ไม่ยอมหยุด ทีแรกก็ชอบพูดว่าต้นไม้มันไม่หยุดในวันเสาร์อาทิตย์ ทำไมคนจะต้องหยุด
แท้จริงแล้วฉันขนครอบครัวข้าราชการไปปล่อยในเมืองเพื่อให้ไปซื้อพริก กะปิ หอมกระเทียม ส่วนตัวฉันเองก็แอบไปจอดรถไว้ในตรอกแคบๆ หลังจากนั้นจึงเดินซอกแซกเข้าไปในตรอกเพื่อพบปะพูดคุยกับใครต่อใครในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็นสิ่งที่ฉันกำลังจะทำ
ฉันเดินเข้าไปที่ถนนท่าแพตรงเชิงสะพานนวรัฐซึ่งด้านหนึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนอีกด้านหนึ่งคือที่อยู่ของหัวหน้าศาลประจำภาค ถัดไปอีกสี่แยกหนึ่ง ตรงมุมมีร้านจำหน่ายเสื้อผ้าและเครื่องสำอางที่มีชื่อว่า “ร้านตัณตราภัณฑ์”เจ้าของมักนิยมเอากล้วยไม้ลูกผสมจากเมืองฝรั่งที่มีดอกบานมาแขวนไว้หน้าร้าน จะว่าเพื่อล่อลูกค้าหรือต้องการเชิดหน้าชูตาก็มิทราบ แต่ฉันก็มักไปเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้นแล้วแหงนดูความงามรวมทั้งความรู้สึกแปลกตาแปลกใจที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในที่สุดก็รู้ว่าชื่อของมันนั้นคือ แคทลียาลูกผสมซึ่งมีชื่อเป็นสำเนียงฝรั่งเศสว่า “มาดามชาลส์มารอง”ทำให้รู้ว่าพ่อแม่ของมันสืบทอดมาจากอเมริกาใต้
ฉันไปเดินชมอยู่หลายครั้งหลายหน ในที่สุดก็เริ่มเบื่อเพราะมันไม่ได้ให้แง่คิดที่ลึกซึ้งอะไรมากนัก
ฉันเดินผ่านเข้าไปในตรอกเล่าโจ๊ซึ่งเป็นตรอกแคบๆ เริ่มต้นจากถนนท่าแพออกไปสู่ด้านตรงกันข้าม
ในที่สุดก็พบบ้านคหบดีเก่ารายหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นคนสูงอายุมีชื่อว่า “คุณพระชำนาญ”ท่านผู้นี้ภายในบริเวณบ้านมีเรือนกล้วยไม้ตามแบบความเชื่อของคนโบราณที่สร้างเรือนกล้วยไม้ด้วยไม้ระแนงมุงหลังคากรองแสงแดดแล้วแขวนกระถางกล้วยไม้เอาไว้ในนั้น ส่วนใหญ่เป็นแคทลียาจากเมืองนอก
ภายใต้กระถางกล้วยไม้ใช้อิฐมอญก่อเป็นถาดใบใหญ่แล้วขังน้ำเอาไว้ในนั้น เพื่อหล่อกระถางปลูกต้นหน้าวัวแถมยังมีกล้วยไม้รองเท้านารีฟิลิปปินส์ตั้งรวมอยู่ด้วย คุณพระท่านก็ขายกล้วยไม้ แต่ท่านตัดกล้วยไม้ขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคนสมัยนั้นเรียกกันว่า ทำแบบสมัครเล่น
ท่านตั้งกระถางต้นกุหลาบชนิดหนึ่งเอาไว้ตรงหัวบันได กุหลาบต้นนี้ท่านตอนขายในราคากิ่งละแพงใจหาย เธอรู้ไหมว่ากิ่งละเท่าไหร่ แหม! กิ่งละตั้ง 35 บาท เงินค่าแรงของฉันมันก็เพียงเดือนละ 500 กว่าบาทเท่านั้น แถมได้มาเท่าไรก็คงต้องส่งให้เมียทั้งหมด ฉันคิดอยู่นานกว่าจะทำทั้งสองด้านได้สำเร็จ แล้วในที่สุดก็นึกอยู่ในใจว่า “มันก็แค่นั้น”
ตัวฉันเองเป็นคนมีนิสัยชอบริเริ่มสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างที่คนแต่ก่อนเขาเรียกกันว่า “คนอยู่ไม่สุข”
ยัง..ยังมีเวลาว่าง ฉันเดินไปตามถนนท่าแพจนกระทั่งไปสุดลงตรงปากประตูโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่ที่โดดเด่นอยู่ในขณะนั้น
ที่ว่าโดดเด่นก็เพราะเหตุว่า กิจกรรมประจำจังหวัดไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันฟุตบอล การจัดงานฤดูหนาว เวทีประกวดนางงาม มันก็รวมอยู่ในสนามโรงเรียนนี้
แต่ความโดดเด่นภายในใจฉันนั้นมันไม่ใช่เรื่องดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น แต่ที่ปากประตูโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยซึ่งด้านหนึ่งคือศาลากลางจังหวัด กับอีกด้านหนึ่งคือศาลจังหวัด(เดิม) ตรงกันข้ามกับปากประตูโรงเรียนยุพราชฯ คือกระต๊อบหลังเล็กๆ ซึ่งมุงหลังคาด้วยใบตองตึงและมีร้านกล้วยไม้พื้นบ้านซึ่งมุงหลังคาด้วยไม้ลวกกรองแสงคนผู้นี้มีชื่อว่า “ป้าทิพย์”แถมยังมีป้ายติดหน้าประตูทางเข้าว่า “ร้านทิพย์มาลา”
ฉันมักเข้าไปนั่งคุยกับป้าทิพย์เป็นประจำ จนในที่สุดก็ทำให้ฉันจุดประกายที่จะลุกขึ้นมาสร้างจิตสำนึกให้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างลึกซึ้ง ฉันเป็นคนมีนิสัยไปที่ไหนก็มีคนรัก พูดคุยกับใครก็มีเสน่ห์ ป้าทิพย์ก็มีความรักและให้ความไว้วางใจ ทำให้ฉันรู้ว่าป้าทิพย์คนนี้เป็นผู้วางสายให้ชาวบ้านไปถกทึ้งจากป่าเมืองไทยเอามารวบรวมแล้วส่งไปขายยังกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อไปขายให้แก่ผู้สั่งซื้อในต่างประเทศ
ส่วนคนสั่งซื้อก็เอาไปทำเป็นของสำเร็จรูป แถมยังส่งกลับมาหลอกคนไทยให้หลงเชื่อว่าเป็นไม้เมืองนอก อีกทั้งโก่งราคาแพงลิบลิ่ว ความจริงทีแรกฉันเริ่มต้นจับงานกล้วยไม้เพราะรู้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเล่นไม่ซื่อเพราะไม่ให้ความชอบธรรมแก่คนมีเงินน้อยรวมทั้งเด็กเล็ก อีกทั้งยังดูถูกว่าคนพวกนี้เป็นคนชั้นต่ำ
นี่แหละคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัวฉันเองลุกขึ้นมาต่อสู้จนสำเร็จ และวิญญาณการต่อสู้แบบนี้มันก็กลายเป็นปณิธานที่ฉันไม่เคยคิดเลิกล้มความตั้งใจ แม้ด้านนอกอาจไม่มีใครเข้าใจเพราะมันถูกเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบต่างๆ แต่ด้านในยังมั่นคงไปตลอด
ฉันอยากพูดว่า “ฉันไม่ได้จับงานกล้วยไม้เพราะความไม่ชอบธรรม แต่ฉันเริ่มต้นจับงานกล้วยไม้เป็นจุดแรกของความไม่ชอบธรรมเท่านั้น”ประกอบกันกับรากฐานจิตใจตนเองมีความลึกซึ้งและมั่นคงมาตลอด ดังนั้นเพราะฉันทำอย่างดีที่สุดโดยไม่ยึดติดอยู่กับกล้วยไม้ จึงขยายผลกว้างออกไปกลายเป็นการต่อสู้เกี่ยวกับทุกๆ เรื่องที่มันไม่ได้ให้ความชอบธรรมแก่คนในสังคมทั้งหมด
………..(ติดตามต่อ ตอนที่ 2)