ครูดีย่อมเป็นศรีแก่แผ่นดิน

“ครูดีย่อมเป็นศรีแก่แผ่นดิน”วิญญาณครูสิ้นแผ่นดินก็ย่อมฉิบหาย นี่คือสิ่งซึ่งทุกคนควรคำนึงถึงอยู่เสมอ

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนฉันมักได้ยินเสียงคนบ่นกันว่า “เด็กเดี๋ยวนี้มีนิสัยแย่มาก”ฉันรับฟังแล้วต้องถือขันติ ทั้งนี้เพราะเสียงดังกล่าวมันเกิดจากผู้ใหญ่ขาดวิญญาณความเป็นครูที่ไม่ได้หวนกลับมาดูตัวเอง

แท้จริงแล้ว เราน่าจะรู้ดีว่า “ผู้ใหญ่ย่อมเกิดมาก่อนเด็ก”แม้แต่คนที่มีทรัพย์สินเงินทองเหนือกว่าคนอื่น ก็น่าจะรู้ดีว่าคนที่ยังด้อยโอกาสนั้น ถ้าทำอะไรผิดก็ควรหวนกลับมาโทษตัวเองว่า ตนไม่ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

อนึ่ง การที่เด็กรวมทั้งคนที่ด้อยโอกาส ถ้าทำสิ่งผิดร้ายก็เพราะผู้ใหญ่รวมทั้งคนที่ขึ้นไปอยู่ด้านบน ขาดการนำปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดี หากมีการประพฤติมิชอบ ภายในจิตใต้สำนึกก็ควรกล้าที่จะตำหนิตนเอง ยิ่งมีพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเองด้วยแล้วย่อมเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญของคนในสังคม

อนึ่ง การที่ฉันเขียนเช่นนี้ โปรดอย่าคิดว่าเป็นเรื่องตลกขบขันซึ่งเห็นได้ว่ามีบางคนได้ฟังแล้วหัวเราะอย่างหน้าด้านที่สุด ลงเป็นคนหน้าด้านแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ด้าน เพราะสิ่งที่มีอยู่ในตัวเองนั้นมันมีเหตุผลสานถึงกันหมด

ดังที่ฉันมักกล่าวฝากไว้ว่า ปัญหายาเสพติดนั้น ถ้าคนที่ขึ้นไปอยู่ระดับสูงไม่เสพติดอำนาจและความมีหน้ามีตาเหนือคนอื่น การแก้ไขปัญหายาเสพติดมันก็คงไม่ยาก

ถ้านึกถึงคำจำกัดความของคำว่า “ครู”โปรดอย่าเป็นคนใจแคบซิเธอ หากเธอใจแคบก็ย่อมคิดแคบ เธอคงคิดว่า ครู เป็นเพียงคนที่ยืนสอนหนังสืออยู่หน้าชั้นเรียน

เธอรู้หรือเปล่าว่า ความหมายของคำว่า “โรงเรียน”และ “มหาวิทยาลัย”นั้น มันหมายถึงอะไร ถ้าเธอเป็นคนที่มีรากฐานจิตใจที่อิสระจริง เธอก็คงคิดได้ว่า โรงเรียนและมหาวิทยาลัยนั้น มันไม่ใช่เพียงสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สมมติขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ หากหมายถึงสถานที่ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดด้วยแล้ว มันก็ยิ่งแคบหนัก ถ้าใครขืนไปยึดติด ชีวิตตนก็คงเดินหลงทางอย่างแน่นอน ยิ่งได้ปริญญาสูงๆ ด้วยแล้วก็เหมือนกับ “กิ้งก่าได้ทอง”ในนิทานอีสป

เรื่องนี้ หลังจากฉันได้นำมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ ด้วยเหตุที่ตนมองลึกลงไปถึง “รากฐานชีวิต”ซึ่งมีจิตวิญญาณที่มีพละกำลังอันมหาศาล ภาพดังกล่าวได้ทำให้ตัวฉันเองมีสายตาที่สว่างยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถหยั่งรู้ได้ว่า ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนั้น อย่าเอาอิทธิพลรูปวัตถุซึ่งมันเป็นเพียงสิ่งสมมติมาครอบงำจิตใจฉันเสียให้ยาก คงไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ตลอดชีวิตที่ผ่านพ้นมาในอดีต จากการปฏิบัติที่เริ่มต้นออกมาจากจิตใจตนเอง ได้สอนให้ฉันรู้ว่า ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมันอยู่ในใจของฉันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง

จึงสรุปได้ว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายนอกจิตใจตนเองนั้น แม้แต่ร่างกายมันก็เป็นแค่เพียงสิ่งหลอกลวงตัวเอง ส่วนของจริงนั้นอยู่ในใจตนเองมาตลอดระยะเวลาของการเรียนรู้อันยาวนาน แม้แต่ย้อนกลับไปสู่ชาติกำเนิดในอดีตก่อนการเกิดมาเป็นตัวเป็นตนในชาตินี้ ภายในจิตใต้สำนึกมันก็มีอยู่แล้ว

นี่แหละที่หลักธรรมท่านได้ชี้ไว้ว่า “สิ่งดังกล่าวมันสอนให้เรารู้ความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องเรียนจากบุญบารมีที่สร้างสมมานานอย่างปราศจากข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น”

เมื่อพูดถึงความหมายของคำว่า ครู ฉันบอกแล้วว่า “ครู”นั้น มนุษย์ทุกคนมีคุณสมบัตินี้อยู่ภายในจิตใต้สำนึกของตนอย่างเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่ชาติกำเนิด ดังนั้น “ธรรมะ”จึงชี้ไว้ว่า “อย่าอยู่อย่างประมาท เพื่อจะได้หยั่งรู้คุณค่าของสิ่งที่อยู่ในรากฐานจิตใจตนเอง อันช่วยให้เกิดปัญญาที่แจ่มใส ช่วยให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ได้อย่างสวยสดงดงาม”

เพราะฉะนั้นการที่ชีวิตมนุษย์เกิดมาและมีโอกาสเรียนรู้จากรากฐานดังกล่าว การจัดการศึกษาจึงไม่ควรส่งผลทำให้เกิดเงื่อนไขทำลายวิญญาณความเป็นครูของตัวเอง ซึ่งแนวคิดแบบนี้ก็คือความหมายของคำว่า “พอเพียง”

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใหญ่ก็ดี หรือผู้มีโอกาสอยู่เหนือคนอื่นก็ดี มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างปราศจากกรอบกำหนดใดๆ ทั้งสิ้น โลกที่เราอยู่นี้ย่อมดีกว่านี้แน่

หากพูดถึงบทบาทของความเป็นครู อย่าว่าแต่คนที่ยืนสอนหนังสืออยู่หน้าชั้นเรียน แม้แต่คนซึ่งทำหน้าที่กวาดถนนก็มีวิญญาณความเป็นครูอยู่ในหัวใจ ถ้าบุคคลผู้นั้นรู้จักปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้ทุกคนที่เดินผ่านไปมารู้สึกศรัทธา

เมื่อครั้งที่ตัวฉันเองเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย ฉันใช้ชีวิตร่วมทำงานอยู่กับนิสิตรวมทั้งชาวบ้าน แม้แต่การอยู่ในชนบท ฉันก็ใช้โอกาสลงไปอาบน้ำอยู่ในปลักควายร่วมกับปลิงตัวดำๆ เมื่อเด็กทำได้ฉันก็ทำได้ อีกทั้งยังปฏิบัติแล้วมีความสุขเช่นนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นคำว่าครู จึงหมายถึงเส้นทางชีวิตที่มีรากฐานจิตใจเข้มแข็งถึงระดับหนึ่ง ฉันรู้ดีว่าหลักธรรมนั้น “เมื่อด้านหนึ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ย่อมลง”อย่างที่โบราณได้สอนไว้ว่า “จงเป็นคนอ่อนนอกแต่แข็งใน”อันหมายถึง บทสรุปที่สามารถชี้ให้ทุกคนเห็นว่า ถ้าแต่ละคนมีอำนาจวาสนาเพราะขึ้นไปอยู่เหนือคนอื่น บุคคลลักษณะนี้ควรมีความประพฤติที่อ่อนน้อมถ่อมตนจึงจะสมควรแก่การเคารพนับถือ

ในช่วงที่ฉันทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มักมีคนสนใจมาถามฉันว่า “ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้สอนหรือเปล่า”ฉันตอบว่า “สอนก็ได้ ไม่สอนก็ได้”

คำตอบแบบนี้อาจจะต้องชี้แจงเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า “ถ้ามองด้วยปัญญาย่อมรู้ได้เองว่า ฉันสอน”ยกเว้นเสียแต่ขาดปัญญาเท่านั้นที่จะคิดว่า ฉันไม่ได้สอน

คำว่าฉันสอนนั้นย่อมรู้เองได้หมด เนื่องจากเพราะปากฉันไม่ได้สอนแต่เป็นเพราะเหตุว่า ฉันปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยตนเองเพื่อมอบให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกคน

            ฉันคิดว่าการนำปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามนั้นคือ คำสอนอันยิ่งใหญ่และคู่ควรแก่การเคารพนับถือ ส่วนการสอนด้วยปากแม้แต่กระดาษกับตัวหนังสือหรือเทคโนโลยีนั้น มันเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งมากกว่า ถ้าใครไปหลงยึดติดอยู่กับมัน ย่อมสร้างผลเสียหายให้กับตนเองหนักมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่น่าสงสารอย่างยิ่ง

            มันเหมือนกันกับความคิดที่ฉันเคยบันทึกฝากไว้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า ศาสตร์ทุกสาขานั้น เราอาจนำมาแยกแยะเป็นหอคอยได้เอง แต่ศิลป์นั้นมันไม่ใช่แค่ศาสตร์ หากเป็นวิญญาณของศาสตร์ทุกสาขาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากหลักธรรมเป็นพื้นฐาน

นี่แหละที่เขาเรียกกันว่า “ความเป็นมนุษย์”ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะขึ้นไปไต่อยู่บนกิ่งก้านสาขาสูงแค่ไหน แต่ถ้าขาดวิญญาณในด้านศิลปะความเป็นครู ความเป็นผู้เป็นคนมันก็ย่อมทำให้โลกใบนี้ป่นปี้ได้ง่าย ยิ่งเกิดขึ้นจากหนึ่งเดียวก็ควรถือว่านำไปสู่ผลเสียหายมากที่สุด

นี่แหละที่ฉันย้ำแล้วย้ำอีกว่า ด้านนอกนั้นย่อมมีสภาพความแตกต่างอย่างหลากหลาย ซึ่งเราจะกำหนดให้ด้านนอกมันเหมือนกันหมดย่อมไม่ได้ เพราะถ้าขืนนำปฏิบัติจากความรู้สึกดังกล่าว ย่อมทำให้โลกใบนี้จำต้องลุกเป็นไฟ

นอกจากเราเพียรพยามที่จะรักษาความเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความซื่อสัตย์ต่อตนเองที่อยู่ในรากฐานจิตใจ และใช้ด้านนี้เป็นพื้นฐานนำปฏิบัติ เพื่อเข้าใจและยอมรับความแตกต่างอย่างหลากหลายจากภายนอกว่าเป็นครูตนเอง

สรุปแล้ว สิ่งซึ่งฉันได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด นี่แหละ!คือความหมายของคำว่า “ครูดีย่อมเป็นศรีแก่แผ่นดิน”

ในช่วงหลังๆ ฉันมักได้ยินเสียงครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่ฉันทำงานรับผิดชอบบ่นกันว่า วิชาในสาขาซึ่งตนทำหน้าที่อยู่นั้น มักไม่ค่อยมีคนสนใจจะเข้ามาเรียน นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งฉันเชื่อว่า ถ้าจะให้สรุปก็คงต้องพูดว่า “ถ้าครูดีใครๆ เขาก้อยากเข้ามาเป็นศิษย์” ฉันมีตัวอย่างกรณีหนึ่งซึ่งใคร่ขออนุญาตหยิบยกมากล่าวฝากให้ทุกคนคิด

อยู่มาวันหนึ่งฉันได้เข้าไปนั่งประชุมอยู่กับรัฐนมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง ฉันได้ยินเสียงรัฐมนตรีคนนั้นบ่นว่า “เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยอยากเข้าไปเรียนวิชาครู”

ฉันรับฟังแล้วคิดทันทีว่า “วิชาครูนั้นมันไม่มีในโลก”คงมีแต่จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ซึ่งถือคุณธรรมเป็นพื้นฐานการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติ

ฉันจึงพูดว่า “รัฐมนตรีครับ วิญญาณความเป็นครูนั้นทุกคนมีมาแล้วโดยกำเนิด ถ้าผู้มีอำนาจไม่คิดทำลายวิญญาณดังกล่าว สังคมนี้ย่อมดีกว่านี้มาก”

นอกจากนั้นฉันยังมีหนังสือที่เขียนระบายความรู้สึกเอาไว้อีกเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่ฉันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ดังจะขออนุญาตนำมาฝากไว้ในบทความเรื่องนี้

ในช่วงนั้น ขณะที่ภัยคอมมิวนิสต์กำลังคุกคามหนัก นิสิตค่ายอาสามีแผนซึ่งจะเดินทางไปสร้างโรงเรียนที่ชายแดงไทย-เขมร หลังจากทำงานเสร็จแล้ว เพราะความเหน็ดเหนื่อยจึงทำให้นิสิตคนหนึ่งไปจมน้ำตายอยู่ทีเกาะลอย จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้เพราะภายใต้ผิวน้ำมีหลุมทรายที่ลึกมาก กว่าจะค้นพบศพเขาก็สิ้นใจแล้ว คืนวันนั้น หลังจากนำเอาศพมาเก็บไว้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดและกางมุ้งคลุมเอาไว้ ตัวฉันเองได้เข้าไปนอนกอดศพเขาทั้งคืน

หลังจากฌาปนกิจเสร็จแล้วแทนที่พ่อแม่จะมาต่อว่ามหาวิทยาลัย กลับนำเอากระเช้าไข่ไก่มาขอบคุณฉันถึงบันไดบ้าน ทำให้สรุปได้ว่า “ครูควรรักศิษย์ยิ่งกว่าชีวิตตัวเอง”กับอีกประเด็นหนึ่ง “ชีวิตคนเรานั้น หลังจากเกิดปัญหาเราควรเอาชนะคนด้วยความดี”ดังที่ฉันเคยเขียนไว้ว่า “ถ้าเรายังเห็นว่าเขาร้าย แสดงว่าตัวเราเองยังไม่ดีพอ”

ถ้าใครได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า “เพียงข้าวเมล็ดเดียว”ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสที่ฉันมีอายุครบ 60 ปี เมื่อปี พ.ศ.2525 แต่ขอโทษทีนะที่ว่าอายุ 60 ปีนั้นโปรดอย่าคิดว่าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นในโอกาสที่ฉันเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้เพราะตัวฉันเองเป็นข้าราชการก็จริงอยู่ แต่ระบบราชการก็ไม่อาจครอบงำจิตวิญญาณที่อิสระของฉันได้แม้แต่น้อย

แต่ปรากฏว่า ตัวฉันเองลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุถึง 2 ปี  แถมยังไม่เอาเงินเบี้ยบำนาญอีกด้วย ทั้งนี้เพราะฉันมีวิญญาณความเป็นครูจากรากฐานจิตใจที่อิสระ  ดังนั้นตัวฉันเองจึงมีนิสัยสอนคนอื่นด้วยการปฏิบัติจากความจริงที่เอาชนะใจตนเองอยู่เสมอ

การที่ลาออกก่อนเกษียณราชการนั้นมีเหตุผลทั้งด้านในด้านนอก ด้านในนั้นคือการเรียนรู้ที่รู้จักพอเพียงแล้ว ส่วนด้านนอกนั้นคือรากฐานจิตใจที่อิสระและรักศักดิ์ศรีอยู่เสมอ

สถานภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นย่อมมีจุดที่เข้าถึงความพอเพียง บนพื้นฐานความอิ่มเอิบบนจิตใจตนเอง และอีกทั้งมีจิตใต้สำนึกที่รำลึกได้ว่า หน้าที่ของความเป็นครูนั้นอยู่ที่ไหนและทำอะไรก็ต้องเป็นอยู่แล้ว

 

ระพี สาคริก

19 ธันวาคม 2554

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *