ปฏิกิริยาตาชั่ง?

เธอที่รัก หากเธอเป็นคนตื่นอยู่เสมอก็ขึ้นชื่อว่า เธอเป็นผู้มีวิญญาณความเป็น “มนุษย์” เพราะมีโอกาสนำพลังในใจตัวเองออกไปสู่การสร้างสรรค์ และนำปฏิบัติอย่างมีความสุข เธอเคยสังเกตบ้างไหมว่าสัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมนั้นคืออะไร ถ้าเธอสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่วิถีชีวิต และนำมาคิดค้นหาเหตุผลให้ถึงที่สุด อย่างน้อยเธอก็คงรู้ว่า สัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมคือ “ตาชั่ง”

ความหมายของตาชั่งนั้นคือ “หลักธรรม” ซึ่งทุกคนสามารถนำปฏิบัติจากใจตนเองได้โดยไม่มีใครหวงห้าม นอกจากนั้นหลักธรรมยังพิสูจน์ให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงอยู่ในโลกใบนี้คงไม่มีใครบังอาจฝ่าฝืน เพราะเป็นความจริงของธรรมชาติ

หลักธรรมบทนี้ได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อด้านหนึ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ย่อมลง” ดังนั้น จึงมีภาษิตอยู่บนหลักนี้ปรากฏให้รู้ได้ในสังคมอย่างหลากหลาย ดังเช่น “เมื่อน้ำลดตอก็ย่อมผุด” “เมื่อสังคมตกต่ำเราก็ย่อมมองเห็นปราชญ์” “เมื่อมีอำนาจสูงขึ้นก็ควรลดตนลงมาอยู่ที่ต่ำ”

ฉันนึกถึงเหตุการณ์ “น้ำท่วม” ซึ่งส่งผลทำลายหลายสิ่งหลายอย่างเมื่อไม่นานมานี้

บัดนี้ฉันมีอายุ 90ปีแล้ว หวนกลับไปนึกถึงกิจกรรมที่มนุษย์ปฏิบัติมาในอดีต ที่มีการจัดประชุมเป็นช่วงๆ เกี่ยวกับเรื่องต้นน้ำลำธารถูกทำลาย

ความจริงถ้ามองด้วยปัญญาย่อมเห็นได้ลึกซึ้งว่า ต้นน้ำไม่ได้ถูกทำลายแต่เพราะ “มนุษย์ที่มีโอกาสขึ้นไปอยู่ในระดับสูงกว่าทางวัตถุ ทำลายมนุษย์ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า ดังนั้นมนุษย์ที่อยู่ในระดับต่ำด้วยโอกาสของการดำเนินชีวิตจึงไปทำลายต้นน้ำลำธาร”

โดยเฉพาะต้นไม้ซึ่งทำหน้าที่ซับน้ำเก็บไว้ในดินและปล่อยน้ำออกมาอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับมนุษย์ แต่ความโลภของมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ ดังเช่น “ได้เท่านี้ก็จะเอาเท่านั้น” “ได้น้อยก็อยากได้มากอย่างหยุดได้ยาก” จนกระทั่งเกิดภาษิตอีกบทหนึ่งว่า “มนุษย์ขี้เหม็นเคี่ยวเข็ญเทวดา” ซึ่งหมายถึงความเห็นแก่ตัวที่มันลงรากฝังลึกอยู่ในจิตใจมนุษย์เอง

อนึ่ง ในเมื่อหลักธรรมได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า “วิถีการเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งทุกอย่าง มีการหมุนวนเป็นวัฏจักร” ดังนั้น เมื่อมนุษย์ไม่รู้จักพอ การกระทำของมนุษย์เองก็ย่อมส่งผลหวนกลับมาทำลายล้างมนุษย์เป็นธรรมดา

ดังนั้น หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมครั้งที่แล้วได้มีหลายคนถามฉันว่า ในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า หากเธออ่านข้อเขียนที่ฉันเขียนเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่แรกและนำมาพิจารณา คำตอบมันก็มีอยู่แล้วในจิตใจของแต่ละคน

ฉันนึกถึงภาษิตอีกบทหนึ่งซึ่งกล่าวย้ำกันอยู่เสมอว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ถ้าฉันจะเขียนต่อไปอีกว่า “หากในน้ำหมดปลา ในนาหมดข้าว มนุษย์ก็ย่อมหมดสิ้นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เป็นธรรมดา”

หากมีผู้ถามว่า จากภาวะน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาแล้วจะมีเหตุการณ์เช่นเดียวกันเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า ย่อมมีคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง ที่สุดก็คือขอให้ทุกคนหวนกลับมาพิจารณาค้นหาความจริงจากใจตนเองว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้นเราได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง

การทำดีที่สุดนั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย ขั้นต้นเพียงแต่การนำปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์และถือสุจริตธรรม ดังนั้น “เมื่อทำลายก็ควรคืนจิตใจให้ธรรมชาติ” ซึ่งหมายถึง “การปลูกต้นไม้ทดแทนให้เร็วที่สุด และมีความอดทนในการดำรงชีวิตโดยไม่หลงอยู่กับความสบายทางวัตถุ” อีกทั้งนำปฏิบัติอย่างมีความสุข ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมแก้ไขได้เสมอ แม้แต่ปัญหาสุขภาพอนามัย หากแต่ละคนทำงานให้แก่สังคมอย่างมีความสุข ร่างกายก็ย่อมแข็งแรงและมีพละกำลังในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง

แม้กระทั่งก่อนตายก็ย่อมตายอย่างมีความสุข เพราะรู้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต โดยไม่คิดน้อยอกน้อยใจว่า “ตัวเราเองทำดีที่สุด แต่คนอื่นกลับไม่ทำเหมือนเรา”

 

ระพี สาคริก

11ธันวาคม 2554

แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *