รำลึกถึงพระคุณของน้ำ

มาถึงวันนี้ ฉันเดินทางจากบ้านไปนานร่วม 1 เดือนเต็มๆ ตั้งแต่รู้ว่า “น้ำ”ได้ให้ความรักและกรุณามาเยือนฉันถึงบ้าน

มีสื่อมวลชนคนหนึ่งได้ถามฉันว่า “น้ำท่วมบ้านท่านอาจารย์หรือเปล่าครับ?”ฉันตอบกลับไปว่า “ท่วมเรียบร้อยแล้ว”ฉันได้ยินเสียงเขาพูดกลับมาด้วยเสียงปกติว่า “ดีนะครับที่ท่านอาจารย์ให้ความยุติธรรมแก่ทุกคน”ฉันตอบว่า “ใช่แล้ว”พร้อมทั้งเสียงหัวเราะอยู่ในลำคอแบบคนใจดี

หลังจากนั้นฉันก็ไม่ได้คิดอะไรอีก เพราะลูกบังคับให้ฉันไปอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ แต่ฉันก็ไปนั่งทำงานอยู่ที่นั่นอย่างมีความสุข

มีสื่อมวลชนอีกคนหนึ่งตามไปสัมภาษณ์ฉันถึงที่นั่น แล้วถามขึ้นว่า “ถ้าเอกสารท่านที่เขียนไว้หลายร้อยหน้ากระดาษมันถูกทำลายไปโดยกระแสน้ำแล้วจะทำยังไง?”

ฉันตอบกลับไปด้วยเสียงปกติว่า “ถ้ามันเสียหายเราก็เขียนใหม่”แต่อย่าไปทุกข์กับมัน เพราะถ้าทุกข์มันก็จะทำให้สติปัญญาเรามืดบอด

หลังจากนั้นฉันมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปทำงานเกี่ยวกับราชพฤกษ์ 2011 ฉันหายหน้าไปร่วม 2 สัปดาห์

ครั้นได้ข่าวว่าที่บ้านน้ำมันลดแล้ว จึงเดินทางกลับบ้านเมื่อบ่ายวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2554

มีคนเตือนว่า จะกลับมาทำไม เพราะถ้าขืนกลับก็คงไม่มีที่ซุกหัวนอน

ฉันฟังแล้วก็หัวเราะอยู่ในลำคอ แต่ในจิตใต้สำนึกนั้นก็คิดว่า ถ้ากลับไปแล้วไม่มีที่นอน นอนขดตรงไหนมันก็ได้ทั้งนั้น

คืนวันนั้นหลังจากกลับถึงบ้านแล้ว แม้จะเดินก้าวเข้าไปในห้อง ก็แทบจะไม่มีที่จะหย่อนเท้าลงตรงไหน คงมีแต่เก้าอี้เพียงตัวเดียวซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางห้องและล้อมรอบไปด้วยกองหนังสือ รวมทั้งสิ่งละอันพันละน้อย แม้แต่เศษกระดาษชินเล็กๆ มันก็เต็มไปหมด ฉันยืนพิจารณาอยู่ครู่ใหญ่ แต่แล้วก็ตัดสินใจขดตัวลงนอนบนที่นั่งของเก้าอี้ตัวนั้น

มีผ้าห่มผืนหนึ่งซึ่งทิ้งอยู่ใกล้ๆ เก้าอี้ ฉันหยิบมันมาด้วยมือซ้ายแล้วขดตัวลงนอนบนที่นั่งของเก้าอี้ตัวนั้น โดยไม่คิดอะไรเป็นอื่นนอกจากตัดได้หมด เพราะถ้าขืนคิดมันก็ทุกข์ ถ้าขืนปล่อยให้ทุกข์เราก็คงหมดแรงใจที่จะมุ่งมั่นทำงานต่อไปเพื่อรับใช้แผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเอง

ค่ำวันนั้นบรรยากาศมันก็มีแต่ความมืดมิด ฉันบอกแล้วว่าจะตัดใจก็ต้องตัดใจให้ได้ ถ้าขืนตัดใจไม่ได้แล้วจะให้เราอยู่ต่อไปอย่างมีความสุขได้ยังไงกัน

คืนวันนั้น ฉันขดตัวนอนอยู่บนเก้าอี้ตัวนั้นจนกระทั่งหลับไปในที่สุด

ครั้นวันรุ่งขึ้น ตื่นมาตอนเช้าถึงได้เห็นความจริงว่า มันมีสิ่งของหลายอย่างกองอยู่บนพื้น จนกระทั่งแทบจะหย่อนขาลงไปให้ถึงพื้นได้ยาก

ฉันตามหากระดาษ 2-3 แผ่น ซึ่งกระดาษเหล่านี้ได้แก่ แสตมป์กล้วยไม้ไทยซึ่งฉันมุ่งมั่นแนะนำให้ทำมันขึ้นมา เพื่อสอนให้คนได้รู้ว่า “อย่าให้คนอื่นเขาปรามาสว่า เรามีของดีแล้วไม่รู้จักรักษา”

ความจริง บ้านเรามีพรรณไม้นานาชนิดที่มันเกิดร่วมกันกับตัวเราเอง อันนับได้ว่าเป็นโอกาสดีให้เราเรียนรู้สิ่งอันทรงคุณค่า ซึ่งเกิดและดำรงอยู่บนแผ่นดินผืนเดียวกันกับชีวิตเรา

แต่เหตุไฉนคนไทยส่วนใหญ่จึงไม่รักษามันไว้อย่างดีที่สุด “นี่แหละที่เรามีนิสัยนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น”โดยไม่รู้จักตื่นตัวตื่นใจที่ได้มีโอกาสเกิดมาบนแผ่นดินเดียวกันกับความดีงาม

หลักธรรมท่านให้ตื่นอยู่เสมอ ตื่นในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง “หลับแล้วตื่น”แต่หมายความถึง ความประมาทขาดสติที่ตัวเราเองมองไม่เห็นจิตวิญญาณอันทรงคุณค่า ที่ช่วยปลุกให้เราลุกขึ้นมาทำงานโดยไม่รู้สึกเกียจคร้าน

มีคนถามฉันว่า “ท่านอาจารย์นอนกี่โมง?” ฉันตอบไปว่า “ฉันนอนห้าทุ่ม บางวันสองยามตีหนึ่งก็ลุกขึ้นมาจดหัวข้อที่คิดได้เพื่อนำไปเขียนขยายผลในวันรุ่งขึ้น บางวันก็ลุกขึ้นมาเล่นไวโอลิน 2-3 เพลง แล้วก็กลับไปนอนใหม่ กว่าจะตื่นก็ประมาณตีสี่ หลังจากนั้นก็ไม่นอนอีกเลย คงนั่งทำงานจนกระทั่งถึง 2 โมงเช้า รับประทานอาหารแบบง่ายๆ พอประทังความหิว แล้วก็นั่งทำงานต่อจนถึงบ่าย 4-5 โมง”

ถ้าจะถามว่า “พักหรือเปล่า”ฉันมักตอบตามตรงว่า “ทำงานอย่างมีความสุขก็คือการพักผ่อน”บางวันอาจทำต่อมาจนกระทั่งถึง 4-5 ทุ่ม

ฉันบอกแล้วว่า สภาพที่ได้กล่าวมาแล้วนี้คือความสุขของตัวฉันเอง

เมื่อทำงานอย่างมีความสุขก็ย่อมมีความคงทน และแข็งแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างไม่อาจบอกใครได้

ฉันหันไปพิจารณารอบๆ ตัวเอง ซึ่งมีแต่การทำงานร่วมกับการพักผ่อนด้วยการทำงานหนักมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ฉันชอบพูดคุยกับทุกคน โดยเฉพาะเป็นการพูดคุยที่สวนกระแสทิศทางให้มันเกิดความรู้สึกท้าทายในการนำปฏิบัติเพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ยิ่งได้ทำงานอย่างปราศจากการพักผ่อนด้วยร่างกายด้วยแล้ว ดูจะเป็นการท้าทายเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดยิ่งเงียบก็ยิ่งท้าทายในการทำงาน ดูเหมือนกระแสสองด้านที่มันสวนทางกันนี่แหละ คือความรู้สึกที่ช่วยให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจว่า ทำไมตนจึงรู้สึกท้าทายในการทำงานอย่างกล้าหาญยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ฉันกล้าเขียนในสิ่งที่คนอื่นเขาคิดว่ามันไม่น่าจะเขียนให้คนอื่นรู้สึกเป็นทุกข์ แต่ฉันเขียนเพราะเห็นว่า “ความทุกข์นั้นคือความสุขของตัวเอง”ฉันจึงได้กล่าวแต่แรกแล้วว่า “อย่าเป็นคนมีนิสัยขลาดที่จะก้าวเข้าไปหา ซึ่งคนอื่นเขาว่ามันคือตัวปัญหา ถ้าเราก้าวเข้าไปแล้วเอาชนะมันให้ได้ สิ่งนั้นหรือมิใช่คือความชนะที่ควรภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะเป็นความชนะที่ไม่ต้องขัดแย้งกันกับคนอื่น แถมยังสามารถยืนหยัดอย่างเข้มแข็งอยู่บนพื้นฐานความกล้าแกร่งของคนอื่นได้อย่างภาคภูมิใจอีกด้วย ชีวิตแค่นี้มันก็ดีมากแล้ว เพราะมันสอนให้เรารู้จักตัวเองลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อจะได้เพิ่มพลังในการทำงานให้แก่แผ่นดิน”

 

ระพี สาคริก

16 ธันวาคม 2554

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *