วิถีการเรียนรู้ภายในจิตวิญญาณของฉัน

การเรียนรู้ให้ถึงความจริง(ชีวิตกับกล้วยไม้) ต้องกล้าสู้ทั้งสองด้าน (ตอนสุดท้าย)

หวนกลับไปนึกถึงช่วงซึ่งพ่อได้เลี้ยงฉันมาแต่เล็กแต่น้อยให้เป็นคนมีนิสัยอดทน อีกทั้งยังสามารถต่อสู้กับกิเลสที่มันอยู่ในใจตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้นต่อมาภายหลังไม่ว่าชีวิตจะต้องลำบากมากแค่ไหนฉันก็รู้สึกว่ามันท้าทายที่จะต่อสู้กับเงื่อนไขที่มันอยู่ในใจตัวเราเองให้ได้ อีกทั้งยังสามารถรู้ทันต่ออิทธิพลของสิ่งซึ่งอยู่ภายนอก ดังนั้น แม้แต่ครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนฉันก็ไม่ยอมเชื่อฟัง เพราะภายในจิตใต้สำนึกฉันรำลึกได้แล้วว่า ครูที่ดีนั้นอยู่ในใจเราเองนี่แหละ

ฉันเริ่มหนีโรงเรียนตั้งแต่อายุยังไม่เท่าไหร่ แม้แต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม 1 แล้วครูให้ข้ามชั้นเพราะเห็นว่าเรียนเก่งฉันก็ยังรู้สึกไม่พอใจ ดังจะเห็นได้ว่า ฉันเรียนมัธยมบริบูรณ์ 3 ปีซ้อนๆ โดยไม่ยอมขึ้นชั้น ดังจะพบบทความเรื่องหนึ่งซึ่งเขียนฝากไว้ว่า “ฉันไม่ยอมขึ้นสู่ที่สอง”

เมื่อปี พ.ศ.2486 มีครูมาจากสหรัฐอเมริกามาสอนให้เรียนวิชาสถิติเป็นครั้งแรก แต่ฉันก็นั่งหลับเพราะรู้สึกไม่ชอบใจจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2491 ฉันกลับมาเรียนวิชานี้ด้วยตัวเองโดยไม่ยอมให้มีครูสอน ฉันรู้สึกประหลาดใจมากเพราะหลายคนบ่นว่ามันยากแสนยาก แต่นอกจากเรียนเองได้แล้วยังถูกพิจารณาให้มาเป็นครูสอนวิชานี้ต่อมาอีก 5 ปี การสอนวิชาสถิติก็ได้ขยายขอบเขตออกไปกลายเป็นสำนักงานสถิติแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการขยายต่อมาถึงสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ครูของฉันตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกได้กล่าวไว้ว่า“เธอสอนเก่งกว่าฉันจึงขอให้เอาไปสอนเองทั้งหมด”

ฉันถูกมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์คัดให้ไปเป็นครูสังเกตการณ์ที่สอนวิชานี้ที่สหรัฐอเมริกา แถมยังเขียนตำราคู่มือการสอนช่วยให้ 5 คนที่ไปศึกษาวิชานี้ผ่านได้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า พอฉันเห็นสูตรยาวๆ แล้วสามารถอธิบายได้จนถึงรากเหง้าของมัน ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปได้ง่ายอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ที่ฉันกล่าวมาแล้วนี้เองไม่ใช่คุยโวหรืออวดตัวเอง หากใครอยู่ใน 5 คนนั้นมาถึงบัดนี้น่าจะรำลึกได้เองว่าช่วงนั้นมันเกิดอะไรขึ้น

คนรุ่นนี้หลายคนคงรู้จักชื่อเสียงของศาสตราจารย์ Gertrude Cox เธอเป็นสุภาพสตรีที่เข้ามาปูพื้นฐานการเรียนการสอนวิชาสถิติให้แก่ประเทศไทย เมื่อเธอสิ้นอายุไขมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้มาขอให้ฉันไปกล่าวไว้อาลัยภายในห้องประชุมตึกอารักขาข้าวที่ตึกเกษตรกลางบางเขนเก่า ค.ศ.2013 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์จะจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปีเพื่อฉลองความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกับประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากมูลนิธินี้เข้ามาร่วมในการส่งเสริมการเรียนการสอน และส่งเสริมการวิจัยภาคเกษตรร่วมกับการแพทย์ของประเทศไทยในอดีต ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนนี้คงจะทราบแล้ว

 

กล้วยไม้พืชศัตรูของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

เพราะฉันทำเรื่องกล้วยไม้แล้วมีศัตรูอยู่รอบข้าง ดังนั้นคนไทยหลายคนจึงมองเห็นว่า ฉันเป็นคนมีนิสัยอุตริเพราะกล้วยไม้ถ้าใครขืนทำไปอาจไม่มีงานทำในอนาคต เนื่องจากไม่มีคนสนับสนุนนอกจากลุกขึ้นมาต่อต้าน

ช่วงนั้นฉันรวมตัวคนที่รักกล้วยไม้แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เปิดการสอนและการฝึกอบรม ซึ่งผลงานมันเป็นของแปลกประหลาด เพราะคนที่เข้ามาเรียนกล้วยไม้อยู่ในชั้นอบรมของฉันนั้นโดยทั่วไปแล้วเมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยเขาจะเรียนเกี่ยวกับสัตวบาล

ฉันรู้ดีว่าคนกลุ่มนี้คงไม่ได้สนใจวิชาเกี่ยวกับสัตวบาล แต่เป็นเพราะความรักในวิชานี้จึงกล้าแปลงกายเข้ามาเรียน

ปกติฉันเป็นคนมีนิสัยเข้ากับคนได้ทุกระดับมาตั้งแต่อายุยังไม่มาก

สโมสรอาจารย์ในเกษตรศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีแต่พวกฝรั่งกับผู้บริหารระดับสูง แต่ปรากฏว่า พวกฝรั่งแทบจะทุกสาขาส่วนใหญ่สนิทสนมและรักใคร่กับฉันอย่างเป็นธรรมชาติ แม้แต่อธิการบดีก็นั่งรับประทานอาหารด้วยกันทุกวันเป็นประจำ นอกจากนั้นบรรดาอาจารย์ซึ่งอยู่หางแถวรวมถึงคนงานดายหญ้าทุกคนเป็นกันเองฉันจนกระทั่งเป็นธรรมชาติ นี่แหละที่ฉันได้ยินพวกฝรั่งพูดกันอย่างเอาจริงเอาจังว่า “กล้วยไม้เป็นวัชพืชตัวร้ายของการเกษตร”แม้แต่เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารของมูลนิธินี้ก็ยังพูดว่า กล้วยไม้เป็นศัตรูของพวกเขา

แต่มันก็เป็นเรื่องแปลกเพราะเหตุว่า ถ้ามองจากภายนอกจะรู้สึกว่าเขามองกล้วยไม้ว่าเป็นพืชต้องห้าม แถมยังบัญญัติศัพท์เอาไว้ด้วยว่า “Orchid bug” แปลว่า เป็นแมลงชนิดหนึ่งซึ่งมีพิษมีภัยซึ่งลองได้กัดใครเข้าแล้วจะต้องติดเชื้อโรคที่ร้ายแรงที่สุด ฉันได้ยินข้อความประโยคนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นประจำ จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ขอตัวฉันจากแผนกโรงสี กรมการข้าว ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณบางเขนไปสังกัดอยู่ในภาควิชาพืชสวนซึ่งเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวฝาตีเกร็ด ส่วนพื้นเทด้วยซีเมนต์แบบที่เรียกกันว่า อนาถา ซึ่งตัวฉันเองได้เขียนภาพนี้ไว้ ซึ่งอยู่มาวันหนึ่งสมเด็จพระราชชนนีได้ทรงประทับม้าไปเยี่ยมเราถึงที่ทำงาน และตัวฉันเองได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จรวมทั้งนำกล้วยไม้ช้างแดงซึ่งผสมสำเร็จใหม่ๆ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

ภาพดังกล่าวได้มีผู้ฉายเอาไว้ นอกจากนั้นภาพนี้มันได้หายไปนานเป็นปี หลังเหตุการณ์น้ำท่วมจึงปรากฏลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำให้ผู้คนได้ชมพระบารมี

เป็นเรื่องน่าประหลาดที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้เดินทางไปประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 5 ที่เมืองลองบีช มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในเดือนเมษายน พ.ศ.2509 นอกจากนั้นแล้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยอธิการบดีได้มาขอตัวให้ฉันไปสังกัดมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นมาไม่เกิน 10 ปี ประธานาธิบดีมาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ได้ส่งคนมาทาบทามให้ฉันไปทำงานที่นั่น โดยให้เงินเดือนสูงกว่าอยู่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หลายเท่าตัว ทั้งนี้เนื่องจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฟิลิปปินส์เกษตรมาก่อน และคนที่มาทาบทามก็เคยเป็นคณบดีคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์ แต่ตัวฉันเองกลับนิ่งเฉยเสียโดยไม่อ้าปากตอบรับ แล้วในที่สุดต่างก็เงียบหายไป

 

ระพี สาคริก

21 มีนาคม 2555

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *