สายฝน

คำว่า  “สายฝน” คือปรัชญาในการดำรงชีวิตที่ลึกซึ้งอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังทรงลิขิตฝากไว้แก่แผ่นดินว่า

อันความกรุณาปราณี
จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาดั่งฝนอันชื่นใจ
จากฟากฟ้าสุลาลัยสู่แดนดิน

ทั้งนี้ความหมายของสายฝนควรจะหมายถึงคุณธรรมและจริยธรรมของมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลผู้ซึ่งชีวิตมีโอกาสขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว ยังให้โอกาสลงมาใช้ชีวิตอยู่ที่พื้นดินร่วมกับชาวบ้านตาดำๆ จึงทำให้เกิดพลังใจจากคนระดับล่างที่จะลุกขึ้นมายืนหัดทำงานต่อสู้กับความยากลำบากด้วยความวิริยะอุตสาหะ
อนึ่ง ครั้นหวนกลับมาพิจารณาพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ได้ทรงลิขิตฝากไว้เป็นเนื้อเพลงสายฝน
เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว
ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ
เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป
แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม

พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง
เพื่อประทังชีวิตมิทราม
น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม
ทั่วเขตคามชุ่มธารา

สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง
แดดทอรุ้งอร่ามตา
รุ้งเลื่อมลายพร่างพลายนภา
ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล

พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
เพื่อจะนำดับความร้อนใจ
น้ำฝนพลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล
พืชพรรณไม้ชื่นยืนยง

อนึ่ง  เมื่อกล่าวมาถึงช่วงนี้ทำให้ฉันนึกถึงเนื้อเพลง “สายฝน” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งได้พระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทยผู้ซึ่งชีวิตยังตกทุกข์ได้ยากอยู่กับพื้นดิน ทำให้ทรงมีพระเมตตาธรรมโดยเฉพาะชาวเขาปลูกฝิ่นในภาคเหนือ
ในช่วงนั้นในหลวงพระองค์นี้ได้เสด็จไปสร้างวังอยู่ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ  โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีภัยอันตรายนานัปการ ยิ่งเป็นด้านที่ทำให้เกิดปัญหาภายในสังคมด้วยแล้ว
สำหรับภาคเหนือทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปโปรดเกล้าฯให้สร้างวังขึ้นที่บนยอดเขาภูพิงค์เพื่อประทับพักแรมและทรงงานอยู่ในบริเวณนั้น
โดยเฉพาะในช่วงบริเวณนั้นที่เรียกกันว่า “ดอยอ่างขาง” ซึ่งมีขุนเขาที่มีชาวเขาอพยพเข้ามาปลูกฝิ่นอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่า “เขาหัวโล้น”
อยู่มาคืนหนึ่ง ฉันรวมทั้งบรรดาศิษย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ขึ้นไปถวายงานดนตรีอยู่ในวัง  ทั้งนี้เพราะเหตุว่าพระองค์ท่านได้เคยรับสั่งฝากไว้ด้วยพระวิญญาณที่เป็นครูว่า  “ศิลปะมีความสำคัญอันควรจัดไว้เป็นพื้นฐานศาสตร์ทุกสาขา    แม้แต่การดนตรีหรือเรื่องอื่นใดก็ตาม” จนกระทั่งถึงเวลาเกือบตี 2 เราจึงเดินฝ่าความมืดออกมาทางด้านหลังอยู่ในบริเวณ “สวนสองแสน”
เธอที่รักเมื่อกล่าวถึงชื่อสวนสองแสนแล้ว  หลายคนอาจไม่รู้ว่าชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร  ฉันขออนุญาตเล่าความจริงให้เธอมีโอกาสรับรู้
แต่ก่อน  บริเวณภูพิงค์ยังเป็นป่าที่ชุ่มชื่นและอยู่ในบริเวณที่สูงร่วม 1,000 กว่าเมตร  ช่วงที่ฉันเป็นนักเรียนเกษตรอยู่ที่แม่โจ้  ทางเราได้ถูกกำหนดให้ขึ้นไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับชีวิตพันธุ์ไม้ในระดับต่างๆ และได้ถูกโรงเรียนกำหนดให้ต้องเดินเท้าไต่เขาจนกระทั่งถึงยอดภูพิงค์
ฉันยังจำได้ว่า  นักเรียนแม่โจ้ชั้นปีที่ 1ซึ่งถูกทางโรงเรียนกำหนดให้ต้องขึ้นไปด้วยความยากลำบากมากจนกระทั่งหลายคนส่วนใหญ่รู้สึกเข็ดหลาบและสาปส่งโดยไม่ยอมขึ้นไปอีก  แต่ฉันเป็นคนเดียวที่มองเห็นคุณค่า  แม้ทางโรงเรียนจะกำหนดให้นักเรียนชั้นปีที่1 ต้องขึ้นไปศึกษาพันธุ์ไม้  ฉันซึ่งชีวิตขึ้นปีที่ 2 แล้ว ก็ยังไม่มีใครจะอาสาสมัครเดินขึ้นไปอีกครั้งนอกจากฉันคนเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะรู้ถึงคุณค่าของชีวิต
ต่อมาคุณปรีชาซึ่งเป็นเกษตรกรชาวบ้านได้ขึ้นไปสร้างที่พักอาศัยและทำสวนลิ้นจี่อยู่บนนั้นรวมทั้งหมดประมาณ 60 ไร่  และลิ้นจี่กำลังถึงฤดูตกลูกแล้ว
ครั้นในหลวงพระองค์นี้ได้โปรดเกล้าฯ  ให้ขึ้นไปสร้างวังเพื่อใช้เป็นสถานที่พักแรมสำหรับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น  รวมทั้งความยากจนของชีวิตชาวบ้าน  หลังจากนั้นมาไม่นานกรมป่าไม้ก็ได้ประกาศให้บริเวณนี้เป็นป่าสงวน  ทำให้คุณปรีชาเกิดปัญหาหนักเพราะเกษตรผู้นี้ได้ขึ้นไปทำสวนอยู่ก่อนแล้ว  ดังนั้นในหลวงท่านจึงทรงมีพระเมตตาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินส่วนพระองค์จำนวน 200,000  บาท  เพื่อซื้อสวนลิ้นจี่นี้จากคุณปรีชาแล้วนำมาพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อใช้เป็นสถานที่วิจัยและส่งเสริมการเกษตร  เมื่อสถานที่นี้หลุดจากมือเอกชนมาอยู่ในความครอบครองของทางราชการจึงหลุดจากเงื่อนไขทางกฎหมาย   นี่แหละที่สวนนี้ถูกเรียนว่า “สวนสองแสน”  ก็มีเหตุผลมาจากความเมตตากรุณาของในหลวง
ถ้าเฉลียวใจสักหน่อยก็น่าจะสงสัยว่า นอกจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว  เหตุไฉนจึงมีคำว่า “พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์น่าจะมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง?”   ทั้งนี้เพราะเหตุว่ายังมีหน่วยราชการอิสระอีกแห่งหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า  “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ซึ่งหลายคนเคยเข้าใจว่าเป็นทรัพย์สินของในหลวง”  ความจริงไม่ใช่หากเป็นสำนักงานซึ่งตั้งขึ้นหลังปี พ.ศ.  2475 มาแล้ว  โดยกลุ่มบุคคลจำนวนประมาณ 300คนที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร์ได้เข้าไปยึดเอามาจากในหลวงในอดีต    ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่อีกชื่อหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่า “พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์”
คืนวันนั้น  หลังจากเสร็จภารกิจในการเข้าไปถวายงานดนตรีแก่ในหลวง  หลังจากนั้นเราก็เดินฝ่าความมืดกลับมาพักค้างแรมที่สวนสองแสน  จนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นฉันจึงขึ้นเครื่องเฮลิคอปเตอร์จากบริเวณลานจอดซึ่งถูกสร้างขึ้นใกล้เคียงกันกับวังที่ประทับเพื่อใช้ในการเดินทางออกไปทำงานช่วยชาวบ้านในแถบที่มีชาวเขาปลูกฝิ่น  ฉันเดินทางล่วงหน้ามารอรับเสด็จอยู่บนยอดดอยอ่างขาง  ในขณะนั้นดอยแห่งนี้ยังแทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่นอกจากเขาหัวโล้นร่วมกับไร่ฝิ่นที่กำลังออกดอกสีม่วง  บางก็มีสีขาว  ซึ่งดอกฝิ่นคล้ายกับดอกไม้ที่เรียกกันว่า  “ทิวลิป”  แต่มีพิษร้ายแรงจากการเป็นยาเสพติดซึ่งมาจากฝิ่น
ขณะนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่  ตัวฉันเองยืนอยู่ท่ามกลางระหว่างชาวเขากลุ่มใหญ่เพื่อรอรับเสด็จอยู่ที่นั้น  พอได้เวลา  หูเราก็ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ดังแว่วมาแต่ไกล  ในที่สุดสายตาก็แลเห็นเครื่อง ฮ.  ใต้ท้องสีฟ้า  ส่วนด้านบนสีขาวอมสีเทาอ่อนๆ บินมาแต่ไกลจนกระทั่งสายตาแลเห็นจุดดำที่ปรากฏอยู่ภายใต้ขอบฟ้า
ครั้นใกล้เข้ามาอีกหน่อย  ฉันก็สังเกตเห็นจุดดำจุดนั้นค่อยๆ ปรากฏชัดจากจิตใจที่เฝ้ารอคอยมานาน  หลังจากนั้นมาอีกไม่นานมากนัก  จุดดำจุดนั้นก็ค่อยๆ หย่อนตัวลงมาบินอยู่ในหุบเขาซึ่งเป็นร่องลึกและคดเคี้ยวไปมายาวประมาณร่วม 9 กิโลเมตร เสมือนไม่เกรงกลัวภัยอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
ฉันได้ยินเสียงหัวใจตัวเองซึ่งเต้นแรงยิ่งขึ้นเพราะความปลื้มปิติจนกระทั่งน้ำตาไหลออกมานองใบหน้า  ในที่สุดเครื่อง ฮ. เครื่องนั้นก็ลงมาจอดอยู่ที่พื้นดินในบริเวณยอดเขาซึ่งมีหมู่บ้านชาวเขาตั้งรกรากอยู่ที่นั้น  ส่วนชาวเขาเองก็มีบุคคลหนึ่งที่ชื่อว่า “จ่าหรู” เป็นผู้ใหญ่บ้านชาวเขาจูงลามารอรับเสด็จอยู่ตรงนั้น
ฉันได้เห็นกับตาตัวเองว่าในหลวงพระองค์นี้ได้ขึ้นไปประทับนั่งอยู่บนลา  ส่วนจ่าหรูก็เป็นคนจูงลาเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขา  บางช่วงก็เสด็จลงมาทรงพระดำเนินอยู่ที่พื้นดิน  และมาทรงประทับนั่งอยู่ใต้ชะง่อนเขาที่มีสภาพไม่กว้างใหญ่มากนัก  และทั้งสองพระองค์ก็ได้นั่งลงบนแคร่ไม้ไผ่ส่วนชาวบ้านก็นำเอาข้าวห่อมาถวายให้เสวยเหมือนกับเราๆ ทุกคน
จนกระทั่งเวลาผ่านพ้นมา  ทำให้เราแลเห็นต้นไม้ใหญ่น้อยซึ่งใช้เป็นอาหารทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ หลักธรรมก็ได้ชี้เอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า  “เมื่อไม่มีสิ่งนั้น ก็ย่อมมีสิ่งนี้”
ฉันได้เห็นความจริงว่า  เมื่อไม่มีไร่ฝิ่นก็ย่อมมีไร่และสวนผักรวมทั้งต้นท้อ ต้นลิ้นจี่  ต้นผลไม้อื่นๆ ซึ่งชาวเขาได้รับการอบรมฝึกฝนจนกระทั่งดอยอ่างขางกลายมาเป็นสภาพที่เขียวชอุ่มด้วยพรรณไม้นานาชนิดซึ่งใช้เป็นพืชเศรษฐกิจบำรุงชีวิตคนท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์  ทั้งนี้เพราะเหตุว่าเมื่อมีพืชเศรษฐกิจเข้ามาแทนที่พืชจำพวกมอมเมาก็ย่อมล่าถอยออกไปเช่นนี้เป็นต้น  ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท  พระองค์ท่านได้ทรงชี้ให้ฉันดูว่า  ในสายตาที่ไม่ไกลมากนัก  นอกจากเคยเป็นเขาหัวโล้นแล้ว  ในหลวงท่านได้ทรงชี้ให้เราดูต้นหญ้ากลุ่มหนึ่งซึ่งมีสีเขียวจากภาพที่อยู่ในสายตาไม่ไกลมากนัก  ในหลวงท่านทรงมีพระวิญญาณความเป็นครู  ท่านจึงได้ทรงชี้ให้ฉันดูว่า “เพราะตรงนั้นมีใบหญ้าสีเขียว  จึงแสดงให้รู้ว่าภายใต้นั้นมีตาน้ำซึ่งทุกคนสามารถขุดเอาน้ำมากักไว้ใช้ปลูกพืชอย่างอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องไปค้นหาต้นน้ำลำธารนั้น”
สรุปแล้วในหลวงพระองค์นี้ทรงเป็นทั้งครูและนักพัฒนาที่มีพระปรีชาญาณเฉียบแหลมอีกทั้งไม่ดูถูกสิ่งเล็กน้อย  ทั้งนี้เพราะรู้ว่าของเล็กคือรากฐานของสิ่งใหญ่  ดังนั้นข้อมูลที่ฉันนำมาเล่าให้เธอฟังจึงเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับการนำมาพิจารณาใช้ประโยชน์ให้ถึงเป้าหมาย
นี่แหละฉันถึงกล่าวว่า  “เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์สายฝนคือปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเมตตาปราณีและความห่วงใยในชีวิตของพสกนิกรที่ยังคงตกทุกข์ได้ยาก”    ดังนั้นฉันถึงได้กล่าวว่าเนื้อเพลงสายฝนนั้น  เราควรเข้าใจให้ถึงส่วนลึก  ซึ่งหาใช่สายฝนเพียงแค่น้ำฝนเท่านั้นไม่ หากหมายความถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือน้ำฝนธรรมดาๆ เพราะมีพระคุณแก่แผ่นดินไทย  โดยเฉพาะราษฎร์ตาดำๆ

26  กันยายน  2553

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *