อาเซียนกับสยามประเทศที่กำลังจะสิ้นลมหายใจ

เธอที่รักของฉัน ขณะนี้ชื่ออาเซียนกำลังส่งกลิ่นหมอฟุ้งสำหรับแมลงวันที่ชอบกลิ่นเหม็น ฉันหวนกลับไปนึกถึงช่วงปี พ.ศ.2513 ซึ่งในปีนั้นแม้ฉันเป็นมดตัวเล็กๆ ก็ได้ถูกรับเชิญให้ไปนั่งบนเวทีของโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งผู้ที่มาเชิญฉันไปคุยในวันนั้นก็คือ ชายคนหนึ่งซึ่งชีวิตผ่านประสบการณ์เป็นทูตอยู่ในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคยุโรปตะวันตกมานานหลายปี เรื่องราวที่คุยกันในวันนั้นก็คือ การคิดจะจัดตั้งองค์กรที่เรียกกันว่า “อาเซียน” ฉันรับฟังแล้วภายในจิตใต้สำนึกก็หยั่งรู้ความจริงได้ว่า คงจะคิดเอาแบบของการจัดตั้ง “ยูโร” มาใช้ในประเทศเขตร้อนซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ความจริงแล้วการคิดแบบนี้มันทำให้ประเทศเราซึ่งเป็นเมืองร้อนของโลกและมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลากหลาย การเอาอย่างประเทศในเขตอบอุ่นมันก็เหมือนกันกับคนตัวเล็กๆ มีความรู้สึกอวดดีเอาไหล่ไปกระทบกับยักษ์ใหญ่ซึ่งไม่เคยมีความสำเร็จ คงมีแต่พังกับพังลูกเดียว แม้แต่การคิดเอาสถาบันการศึกษากับสถานีวิจัยมาไว้ด้วยกันในการเกษตร ไม่ว่าที่บางเขนหรือที่เชียงใหม่เราก็เคยแตกแยกกันมาแล้ว

ฉันนึกถึงน้ำท่วมครั้งที่แล้ว ก่อนที่จะขนของย้ายหนีน้ำ ฉันได้ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ฝากไว้ว่า “จะให้น้ำมันท่วมอีกสักกี่ครั้งเราถึงจะจดจำได้อย่างลึกซึ้ง” อนึ่ง ถ้าใครได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า “อนิจจาการจัดการศึกษาไทย” ที่ฉันเขียนฝากไว้เมื่อไม่นานมากนักร่วม 10 ปีมาได้ ถ้าใครมีหนังสือเล่มนี้เก็บไว้ขอให้เอาออกมาอ่านทบทวนดูอีกครั้ง เพราะหลักพุทธธรรมท่านได้ชี้ไว้ว่า “การปฏิบัติธรรมนั้นขอให้รู้จักทบทวนตนเองเพื่อจะได้มีสติสัมปชัญญะ แต่เรากลับให้ครูมาประเมินเด็กซึ่งมันผิดกับกฎเกณฑ์ของมนุษย์ ฉันเกิดมาจนกระทั่ง 90 กว่าปีแล้ว ฉันรู้จักคำว่าประเมินตนเองมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้” นี่แหละวิธีการจัดการศึกษาเพื่อให้ทุกคนเรียนรู้จากใจตนเอง แต่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กลับลืมตัวเพราะคิดว่าสิ่งที่อยู่ในใจเรานั้นมันอยู่ที่คนอื่นโดยเฉพาะเอาไปฝากไว้กับผู้มีอำนาจ ซึ่งสมัยนี้คนมีอำนาจนั้นมีมากยิ่งขึ้นจนกระทั่งไม่รู้ว่า “ศรัทธา” นั้นมันคืออะไรและมีรากฐานอยู่ที่ไหน จนกระทั่งเมื่อมองเด็กครั้งใดก็อดคิดไม่ได้ว่าการที่ผู้ใหญ่มุ่งพัฒนาเด็กนั้นมันถูกแล้วหรือโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กพัฒนาตนเอง

แล้วการที่ พ.ร.บ. ของสถาบันการศึกษาเขียนไว้ว่าจะพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์นั้น ในทางปฏิบัติมันจริงหรือเปล่า ขอให้หวนกลับมาดูตัวเอง อย่างที่โบราณเขาพูดไว้ว่า “ถ้ามองไม่เห็นตัวเองก็ขอให้ส่องกระจกแล้วชะโงกดูเงา” เมื่อไม่นานมานี้มีการปรับเปลี่ยนฝ่าบริหารประเทศใหม่ ได้มีบทความเรื่อง “ทะลายกำแพงเสมา” เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ทีแรกฉันก็รู้สึกมีความหวังเพราะเข้าใจว่าคงจะออกไปช่วยชาวบ้านที่กำลังตกทุกข์ได้ยากอยู่ในนาในไร่ ครั้นอ่านต่อไปจึงรู้ว่า “กระโจรออกไปหาอาเซียน” “อนิจจาน่าสงสารเกษตรกรชาวบ้านตาดำๆ” เมื่อไม่นานมานี้มีนักข่าวชาวต่างชาติมาขอสัมภาษณ์ฉัน เราคุยกันอยู่ประมาณร่วม 3 ชั่วโมง จนกระทั่งมีบุคคลภายนอกถามว่า “คุยอะไรกันนานขนาดนั้น” ไม่ว่าจะนานหรือไม่นานก็ตาม แต่มีคำถามประโยคหนึ่งซึ่งฉันถูกถามว่า “ท่านอาจารย์ต่อต้านการสั่งข้าวจากสหรัฐอเมริกาเข้าประเทศไทยใช่หรือเปล่า” ฉันตอบไปว่า “ผมไม่ได้ต่อต้าน แต่ผมคิดว่าหลักธรรมหรือสมดุลระหว่างกันและกันจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข อีกทั้งทางเรายังไม่พร้อมเพราะยังไม่เข้มแข็งพอ แต่ก็ต้องขอบคุณที่ถามเราเพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน ซึ่งเราจะต้องสร้างความสมดุลให้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะความเสมอภาคถ้าเราให้ความจริงใจมากกว่านี้เราคงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น

แต่ถ้าเรามีรากฐานที่ยังไม่เข้มแข็งพอ เราก็จะเป็นฝ่ายสูญเสียโดยเฉพาะชาติกำเนิดของเราเอง ดังนั้น เรื่องอาเซียนกับการนำปฏิบัติ ฉันยังมีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องกล้วยไม้นั้น หลังจากประเทศสยามได้พัฒนาเรื่องนี้ขึ้นมาจนกระทั่งมีความโดดเด่นจึงเป็นที่พิศวาสของหลายประเทศ แม้แต่มาเลเซียก็มาขอให้เราเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาเรื่องกล้วยไม้ บังเอิญฉันถูกขอร้องให้เป็นประธานจัดงานในเรื่องนี้จึงรู้ความจริงว่า การประชุมอาเซียนนั้นเขาไม่ให้ประชาชนซึ่งใช้ชีวิตเกี่ยวข้องโดยตรงเข้าไปนั่งอยู่ในนั้น คงมีแต่ข้าราชการฝ่ายเดียว นี่แหละที่เราเริ่มคิดเรื่องการจัดประชุมเอเชียแปซิฟิกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1984 เพราะเราไหวตัวทันจึงรีบแก้ไขโดยเร็ว มิฉะนั้นแล้วเราจะเสียหายมากไปกว่านี้ สิ่งดังกล่าวมีปรากฏอยู่ในหลักฐานราชพฤกษ์ 2011 ที่จังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่ฉันเขียนมาแล้วทั้งหมด หากผู้ที่สนใจนำเอาข้อความแต่ละประโยคมาคิด ล้วนเป็นเรื่องหลักธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นฉันขอกราบเท้าเธอทุกคนที่ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะไม่อยากจะกล่าวหาว่าเธอมีเจตนาจะทำลายบ้านเมืองในขณะที่มีความอ่อนแอจนกระทั่งไม่สามารถต้านทานกระแสซึ่งคนไทยทำเอาไว้เองเพราะความไม่รู้ เมื่อพูดถึงการจัดการศึกษา ฉันได้ยินคนแทบจะทุกยุคทุกสมัยกล่าวฝากไว้ว่า ผู้บริหารประเทศมักมีแนวโน้มกระทำไปเพราะไม่สนใจจะศึกษาหาความรู้เรื่องการจัดการศึกษาของชาติ คงปล่อยให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วก็ลุกขึ้นมาทำกันเองเช่นนั้นใช่หรือเปล่า แม้แต่การนำเอากระแสไฟฟ้าที่มากับการค้าขายเครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูง มาให้เด็กที่อายุยังน้อยใช้โดยไม่รู้ว่ากระแสไฟฟ้าดังกล่าวมันทำลายสมองเด็ก ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็คือการทำลายเด็กของประเทศในระยะยาว ถ้าใครพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กรุณาอย่านิ่งดูดายที่จะถ่ายทอดข้อมูลความรู้ต่อไป ระพี สาคริก 25 มีนาคม 2555

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *