เห็นเงาอะไรในกระแสน้ำท่วม
“เห็นแต่เงา เฝ้าแต่ฝัน รักแต่น้องซึ่งเป็นมิ่งขวัญ” เนื้อเพลงบทนี้อยู่ในทำนองเพลง “วอลซ์” ซึ่งฉันเคยได้ยินมาตั้งแต่อดีต ความจริงแล้วเธอซึ่งส่วนใหญ่คือน้องฉันแทบทั้งหมด เพราะตัวฉันเองก็มีอายุใกล้จะร้อยปีเข้าไปทุกทีแล้ว คงขาดอีกไม่มากนักซึ่งตัวฉันเองอยู่อย่างประมาทคงไม่ได้ หากควรมุ่งมั่นทำงานรับใช้สังคมหนักมากยิ่งขึ้น เรียนรู้ความจริงจากใจตนเองไปเสียมิได้ จึงให้ความจริงจากใจแก่ทุกคนตั้งแต่อายุยังเป็นเด็กมาจนถึงบัดนี้
อนึ่ง การที่ฉันใช้คำว่า “ฝัน”ก็เพราะเหตุว่า น้ำท่วมครั้งนี้ฉันมองในด้านดีมากกว่าด้านเสียหาย ด้านดีด้านนี้ก็คือ การที่เธอทั้งหลายให้ใจซึ่งกันและกันอันควรถือว่าคือความรักความสามัคคีกลมเกลียวกันไว้ ซึ่งเป็นผลส่งให้ทุกคนมีความสุขอย่างสำคัญที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ชาติ
เมื่อเขียนมาถึงช่วงนี้ ฉันเองคงละเลยเสียมิได้ที่จะขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกคนที่เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มโพธิสมภาร จึงทรงพร่ำสั่งสอนอยู่เสมอว่า “ขอให้มีความรักความสามัคคีกันเข้าไว้เพื่อจะได้นำบ้านเมืองไปสู่ความสุข”
น้ำท่วมครั้งนี้ ฉันยังไม่แน่ใจว่า ความรักความสามัคคีของเธอทั้งหลายมันจะเป็นความจริงที่อยู่ไปได้นานแค่ไหน หรือว่าน้ำท่วมครั้งนี้มันจะช่วยสอนเธอได้แต่เพียงความฝันชั่วครั้งชั่วครู่เท่านั้น
บัดนี้เธออาจนึกประหลาดใจ ถ้าฉันจะกล่าวว่า ในอดีตนั้นตัวฉันเองถูกลูกหลานกำหนดให้ไปนั่งทำงานอยู่ที่ริมแม่น้ำแควใหญในจังหวัดกาญจนบุรีเพราะบ้านกำลังจะถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ครั้นอยู่ ๆ ก็ไปโผล่ขึ้นที่สิงคโปร์โดยมีคณะร่วมทางไปด้วย เพื่อไปร่วมประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 20เธอเชื่อหรือเปล่าว่า เมื่อปี ค.ศ.1963ซึ่งขณะนั้นตัวฉันเองมีอายุเพียง 33ปี แต่ก็มีโอกาสก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีโลกคนเดียว อีกทั้งมีอายุน้อยที่สุด ครั้นหันไปดูรอบข้างก็พบว่าหลายคนมีอายุสูงกว่าฉันอย่างเห็นได้ชัด แถมยังคอยให้กำลังใจฉันอย่างเต็มที่
ช่วงหลัง ๆ ฉันได้พูดพร่ำบอกกับเธอว่า “ตัวฉันเองไม่ได้ทำเรื่องกล้วยไม้ แต่ทำเรื่องอื่นที่มันลึกซึ้งกว่ากล้วยไม้มาก ๆ” ไม่เช่นนั้นแล้วคนเขาจะนับถือฉันตั้งแต่อายุยังไม่มากนักได้ยังไงกัน
นับตั้งแต่ ปี ค.ศ.1963มาแล้ว มาครั้งนี้เป็นปี ค.ศ.2011ซึ่งนับได้ว่าครบรอบการจัดประชุมระดับโลกครั้งแรกของสิงคโปร์พอดี แสดงว่าตัวฉันเองได้ปฏิบัติธรรมมาตลอดชีวิตจึงสามารถหยั่งรู้ความจริงได้ว่า “เมื่อมันเกิดขึ้นได้ ถ้ารักษามันไว้ให้ดีที่สุดก็ย่อมก้าวมาถึงที่สุดได้ด้วย”
เธอที่รักทุกคน โปรดอย่าคิดว่าในขณะที่เธอกำลังทุกข์ร้อนแล้วฉันจะทิ้งเธอไปได้ลงคอ คนอย่างฉันคงเป็นไปไม่ได้ หากมีเหตุผลบางอย่างที่มันลงรากฝังลึกอยู่กับแผ่นดินผืนนี้มาตลอดชีวิต
อนึ่ง สิ่งที่ฉันจะเขียนต่อไปนี้ ถ้าเธอมีปัญญาก็คงมองเห็นได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องกล้วยไม้ แต่เป็นเรื่องของหลักธรรมซึ่งนำปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนมาตลอดชีวิต เพียงแต่ว่านำเอาเปลือกนอกมันมาปอกออกทิ้งเพื่อวิจารณ์ ซึ่งต่อไปนี้เธอจะต้องมองทะลุเปลือกนอกลงไปถึงเนื้อในว่ามันเป็นอะไรกันแน่
ฉันขอเริ่มต้นจากเรื่องกล้วยไม้ไปก่อน หวนกลับไปนึกถึงเพียงไม่กี่ปีมานี้เอง อำนาจรัฐได้ประกาศว่า จะทำกล้วยไม้ให้มันได้หมื่นล้าน ฉันฟังแล้วตกใจมากเพราะหลักธรรมท่านไม่ไห้กำหนดข้อมูลบนพื้นฐานวัตถุเอาไว้ล่วงหน้า เพียงแต่ชี้แนะเอาไว้ให้ทำอย่างดีที่สุดเท่านั้นเป็นพอแล้ว
นอกจากนั้น คนไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่เพียงกล้วยไม้อย่างเดียว ไหนจะต้องกินข้าว ไหนจะต้องกินถั่วกินงา ไหนจะต้องมีผลไม้ รวมทั้งผักปลาอาหาร เพราะฉะนั้นการจะทำกล้วยไม้ให้ได้หมื่นล้าน ฉันบอกได้เลยว่าอย่าไปเชื่อ ถ้าขืนเชื่อก็คงทำให้บ้านเมืองต้องล่มสลายอย่างแน่นอน นอกจากนั้นฉันยังไม่ใช่นักวิชาการส่วนเกิน ซึ่งถ้าใครทำอะไรก็อยากให้คนอื่นเขาทำอย่างนั้นเหมือนตน นี่แหละคือความจริงที่ต้องแก้ไข
พูดยังไม่ทันขาดคำ ไม่กี่ปีถัดมาสภาวะเศรษฐกิจของวงการกล้วยไม้ซึ่งกำลังถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้มันก็สูญเสียยิ่งกว่าหมื่นล้านเสียอีก เธอเชื่อหรือเปล่าว่าในช่วงที่น้ำท่วมนั้นมีคนร้องทุกข์มาหาฉันเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน แม้เพียงข้อจำกัดอยู่ที่กล้วยไม้มันก็หลายแสนล้านแล้ว บางคนก็บอกว่าไม่เป็นไร “เสียแล้วก็หาเอาใหม่”บุคคลลักษณะนี้น่านับถือ เพราะรู้สึกชื่นชมในคุณธรรม รวมทั้งความเพียรพยายามที่ต่อสู้ชีวิตและปลงในรูปวัตถุได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว
แต่หลายคนก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น แม้เสียงผ่านโทรศัพท์มาให้ฉันได้ยินก็ยังมี มีอยู่รายหนึ่งบอกว่า “พึ่งจะลงทุนไปได้ไม่นาน ครัั้นถามกลับไปว่า “เท่าไร่” เขาตอบว่า “300ไร่”แถมยังตอบกลับมาอีกว่า “ไร่ละประมาณ 1ล้านบาทเบ็ดเสร็จ”
สิ่งนี้เองที่มันทำให้ฉันรู้สึกสลดใจในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่ก็เชื่อว่าการใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐานย่อมไม่เข้าตาจนอย่างแน่นอน ฉันนึกถึง “บริษัท บางกอกฟลาวเออร์เซ็นเตอร์ จำกัด”ซึ่งแท้จริงไม่ใช่บริษัท หากมีวิญญาณสหกรณ์อยู่ในนั้น ฉันนึกถึงช่วงปี พ.ศ.2513ในช่วงนั้นชาวสวนกล้วยไม้กลุ่มแรกของเมืองไทยได้รับความเดือดร้อน เพราะมีคนกลางส่งต่างประเทศเกิดทะเลาะกันเอง ทำให้ชาวสวนกลุ่มนั้นแห่กันมาหาฉันที่บ้าน และฉันได้แนะทางเลือกเอาไว้สองทาง
1. ถ้าเป็นสหกรณ์ทางการ ก็จะได้รับการลดภาษีแต่ขาดอิสรภาพในการบริหารงานเพราะมีราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง
2. ถ้าเป็นบริษัทแต่ใช้ระบบสหกรณ์ แม้จะต้องเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบริษัท แต่ไม่มีอำนาจรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซงจึงทำงานอย่างอิสระ ใครต้องการเลือกแบบไหนขอให้บอกมา
ฉันได้รับคำตอบว่าแบบที่สองดีที่สุด เราจึงจดทะเบียนเป็นบริษัทแต่ให้มีสมาชิกชาวสวนเป็นผู้ถือหุ้น รวมทั้งการเลือกกรรมการมาจากสมาชิกเช่นเดียวกันกับสหกรณ์
เพราะฉะนั้น “บางกอกฟลาวเออร์เซ็นเตอร์”แม้จะเป็นบริษัทแต่ก็มีวิญญาณสหกรณ์อยู่ในนี้ ดังจะเห็นได้ว่า ทุกเดือนที่มีการประชุมกรรมการจะมีชาวสวนมารวมตัวกันอยู่ที่นั่น และนำกล้วยไม้มาแสดงโดยไม่จำกัดว่า ใครจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิก นอกจากนั้นใครมาถึงที่นั่นก็จะมีข้าวปลาอาหารกินฟรี
นี่แหละ “เมื่อมีน้ำท่วม ทุกคนจึงได้รับผลกระทบเสมอเหมือนกันหมด”ดังนั้นฉันจึงพูดกับผู้บริหารไว้แล้วว่า “ถ้าชาวสวนคนไหนได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกน้ำท่วม ฝ่ายห้องปฏิบัติการจะพิจารณาเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขยายพันธุ์พืชให้ตามเหตุและผล”
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทนี้ยังมีบริการช่วยขยายพันธุ์พืชให้แก่ไม้ประดับอื่นๆ แม้แต่ไม้ผล พืชผัก ที่ต้องการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณพันธุ์ดีที่ตลาดต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า ไม่เพียงแต่สมาชิกชาวสวนเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน แม้แต่กรรมการบริษัทเองก็ได้รับความเดือดร้อนด้วยเช่นกัน เราจึงควรเห็นใจซึ่งกันและกันมากกว่า
สำหรับกิจกรรมการขยายพันธุ์พืชของกลุ่มชาวสวนกลุ่มนี้ที่ถูกน้ำท่วมจะได้รับผลกระทบแต่เพียงชั้นล่าง ส่วนชั้นบนยังคงดีอยู่ จึงอาจมีผลในการทำงานให้บริการลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ระดับหนึ่งโดยไม่ต้องไปรบกวนรัฐ หากถือหลักการถึ่งตนเองไว้ก่อน
อนึ่ง หวนกลับไปนึกถึงการไปสิงคโปร์ครั้งนี้ เธอเชื่อไหมว่า หลังจากที่ฉันและคณะเดินทางไปถึงสิงคโปร์แล้ว ฉันได้เห็นภาพการแสดงพันธุ์ไม้ที่สิงคโปร์ให้โอกาสประเทศต่าง ๆ มาจัดแสดงนั้น มันมีสมบัติที่ฉันไม่อยากเรียกว่า “คุณสมบัติ”เพราะมันเป็นสมบัติแบบธรรมดา ๆ สำหรับล่อแมลงให้มาเล่นไฟ
ครั้นวันรุ่งขึ้น นัยน์ตาฉันซึ่งมองเห็นธรรมอยู่แล้วช่วยให้มองเห็นว่ายังมีพื้นที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งมี “ลีกวนยู”ไปเป็นประธาน
พื้นที่แห่งนี้มีขนาดใหญ่โตมโหราณหลายสิบเท่า โดยใช้วิธีถมทะเลเกือบจะถึงร้อยไร่และมีการสร้างอาคารเรือนกระจกคลุมเอาไว้แทบจะหมด แถมยังซอยเป็นส่วนย่อยๆ ซึ่งจัดไว้ให้พืชแทบจะทั่วโลกที่รวบรวมเอาไว้อย่างหลากหลายในนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
เธอลองนึกดูก็แล้วกันว่า พืชเหล่านั้นมันมีนิสัยแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ดังนั้นการจะให้มันมาอยู่ด้วยกันก็ต้องจัดการปรับสภาพแวดล้อมจากธรรมชาติให้มาเป็นของเทียมเพื่อความเหมาะสมแก่นิสัยของพืชแต่ละอย่าง
ส่วนกล้วยไม้นั้นได้ถูกนำเอาไปปลูกแซมไว้เป็นการชั่วคราวแทบจะทั่วไปหมด ดังนั้นในฐานะที่เมืองไทยเป็นฝ่ายผลิตจึงสามารถเข้ากันได้ในระยะยาว
อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นเหตุอย่างสำคัญทำให้ฉันมองเห็นว่า โครงการแบบนี้มีข้อจำกัดที่จะต้องใช้กล้วยไม้อย่างติดต่อกันไปเรื่อย ๆ
แต่พื้นฐานของปัญหาอันใหญ่ก็คือ โครงการแบบนี้ในที่สุดก็ย่อมส่งผลทำลายธรรมชาติไม่ว่าจะเร็วช้าแค่ไหน ในที่สุดก็ย่อมสะท้อนภาพซึ่งทำลายโลกเช่นเดียวกันกับน้ำท่วมบ้านเราในขณะนี้
เอาล่ะ! อย่างน้อยก็แลเห็นเงื่อนปมหนึ่งซึ่งเป็นหลักธรรมที่มีการเกื้อหนุนระหว่างกันและกัน เพราะสิงคโปร์ไม่ใช่แหล่งผลิตกล้วยไม้ของโลก แต่เป็นแหล่งใช้ประโยชน์ แต่เมืองไทย ไต้หวัน มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ภายใต้เขตร้อนของโลกเป็นแหล่งผลิตแต่ไม่ใช่แหล่งใช้ประโยชน์ สิงคโปร์คงมีแต่เกาะก้นคนอื่นแทบทุกเรื่องอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในด้านการผลิต ซึ่งขณะนี้หลักธรรมก็ได้ชี้ไว้ว่า “ถ้าไม่มีสิ่งนั้นก็ย่อมไม่มีสิ่งนี้”ดังนั้น ถ้าไม่มีใครผลิตสิงคโปร์ก็ตาย
ในเรื่องนี้ฉันจึงเห็นว่า ในขณะที่อาคารหลังใหญ่ของสิงคโปร์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ใส่กล้วยไม้ แต่สิงคโปร์ไม่มีกล้วยไม้เป็นของตัวเอง หากคนไทยซึ่งกำลังถูกน้ำท่วมทำให้เป็นทุกข์อย่างหนัก รู้จักลุกขึ้นมายืนต่อสู้ด้วยลำแข้งของตนเองแล้วทำไมจะหาลูกค้าที่เข้มแข็งไม่ได้
แต่นี่คนไทยส่วนใหญ่มีความหย่อนยานลงมากๆ เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นหน่อยก็ไม่ต่อสู้แล้ว ชนชาติอื่นที่เขามีพลังการต่อสู้ยิ่งกว่าคนไทย พวกเขาจะมาฉกฉวยเอาไปแล้วเราจะไปโทษใครอื่น
เพราะมองดูน้ำท่วมครั้งนี้ฉันก็ยังเห็นได้เพียงแต่ความฝัน ซึ่งทำให้ตัวฉันเองไม่ค่อยแน่ใจว่าพวกเธอทั้งหลายจะใช้โอกาสน้ำท่วมสอนให้มีความเข้มแข็งที่จะลุกขึ้นมายืนต่อสู้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างเอาจริงเอาจัง
เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้ตัวฉันเองน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อฉันมีอายุได้ไม่ถึง 50ปี ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดทางวิชาการ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ขอให้
หลังจากทรงพระราชทานแล้วได้เสด็จลงมาประทับยืนอยู่ตรงหน้าฉันและรับสั่งอย่างมีความหมายลึกซึ้งอย่างหาที่สุดมิได้ว่า “อาจารย์ ทำอะไรก็สุดแล้วแต่ ถ้าทำอย่างดีที่สุดแล้วย่อมได้รับผลดีได้ทุกเรื่อง”
ชีวิตคนเรา ถ้าไม่เห็นแก่ตัวย่อมไม่กลัวความตาย เหตุผลก็คือตายแล้วก็ยังมีโอกาสสร้างงานใหม่ ๆ ในอนาคตได้อีก
ระพี สาคริก
17พฤศจิกายน 2554