ปี 2000 ในความทรงจำ
บัดนี้เป็นช่วงกลางปีค.ศ. 2010 หวนกลับไปนึกถึงช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ค.ศ. 2000 อันนับได้ว่าเป็นเวลานาน 10 ปีมาแล้ว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของฉันมาตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่กล่าวกันว่า “คุณธรรมและจริยธรรม” ซึ่งนับได้ว่าเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ผู้ปรารถนาความสุขจึงทำให้ฉันรู้สึกประทับใจมิรู้ลืมมาจนถึงบัดนี้
ปกติฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งซึ่งให้เกียรติเชิญฉันไปร่วมงานแสดงพรรณไม้นานาชาติติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีมาแล้ว โดยเริ่มต้นจากการแสดงที่เมืองนองท์ (NANTE) ซึ่งบริเวณงานได้จัดขึ้นริมแม่น้ำอันสวยงามและฉันยังจำได้ดีว่า ตัวเองไปยืนชมกระแสน้ำที่มันไหลเอื่อยๆเสมือนมีชีวิตชีวา
หลังจากนั้นมาแล้ว ช่วงหนึ่งได้มีสุภาพบุรุษผู้น่ารักคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่ามาร์ค กอนเย่ (MARC GONNET) เขาเป็นคนที่มีนิสัยสุภาพเรียบร้อยและทำงานลงสู่ด้านล่างจนเป็นที่ถูกชะตากันกับฉัน หลังจากไปร่วมงานที่นั่นติดต่อกันมารวม 3 ครั้ง และฉันคงไม่ลืมที่จะกล่าวถึงท่านเอกอัคราชทูต แคแรค ซึ่งในช่วงนั้นดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ซึ่งในช่วงงานท่านผู้นี้ได้ไปดูแลสภาพพรรณไม้ที่ส่งไปจากประเทศไทยด้วยความเอาใจใส่อย่างแท้จริง
ย้อนกลับไปนึกถึงคุณ มาร์ค กอนเย่ สุภาพบุรุษผู้นี้ได้เชิญฉันไปร่วมงานแสดงพรรณไม้นานาชาติที่ศูนย์การแสดง ณ เมืองดิจอง (DIJON) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปารีสออกไปประมาณ 300 กม.
งานนี้ได้จัดขึ้นทุก 3 ปี และทุกครั้งที่จัดงานเขาจะบินมาส่งหนังสือเชิญให้ถึงมือฉันด้วยตัวเอง ปกติฉันเป็นคนมีนิสัยเป็นครูที่สอนลูกศิษย์ด้วยการปฏิบัติ ดังนั้นไม่ว่าจะเดินทางไปไหน แม้หนทางใกล้ไกลแค่ไหน ฉันมักชวนคนรุ่นหลังให้ร่วมไปทำงานด้วยกันโดยหาค่าใช้จ่ายให้เสร็จซึ่งบางครั้งก็ได้มาเพราะแรงศรัทธา บางครั้งก็ต้องใช้สติปัญญาเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขาได้รับความรู้บนพื้นฐานที่กว้าง ไกล และลึก
ในปี ค.ศ. 2000 ปรากฏว่าฉันได้รับเชิญไปร่วมงานฉลองในประเทศต่างๆ ติดต่อกันหลายแห่ง แม้งานที่ฝรั่งเศส ตัวฉันเองก็ได้รับเชิญอีกทั้งยังวางแผนเพื่อนำชนรุ่นหลังไปร่วมด้วยเพื่อช่วยกันทำงานรวม 5 คน
ถัดจากนั้นมา ก็มีอีกงานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่เกาะอาวาจิซึ่งอยู่ในอ่าวเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีอีกงานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่เกาะรียูเนี่ยนไอซ์แลนด์ ซึ่งจะต้องเดินทางข้ามทวีปแอฟริกาลงไปยังเกาะนี้ที่อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย
ทั้งสามงานอยู่บนพื้นฐานขององค์กรที่มีชื่อว่า AIPH. หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่าพืชสวนโลก
ในปีนั้นปรากฏว่าตัวฉันเองซึ่งได้รับความเคารพรักจากชนชาติเหล่านั้น จึงทำให้ต้องรับผิดชอบในการไปร่วมงาน
เริ่มต้นจากงานในประเทศฝรั่งเศสไปก่อน ทั้งนี้เพราะงานที่นั่นยังไม่ทันจะจบ แต่ฉันได้วางกำลังลูกศิษย์เอาไว้ที่นั่น หลังจากนั้นจึงเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ลืมที่จะเขียนจดหมายขอบคุณส่งไปยังฝรั่งเศส เพราะเรื่องนี้เป็นมารยาทที่ฉันนำปฏิบัติทุกครั้ง ไม่ว่าจะไปไหน
ความรู้สึกประทับใจจากที่นั่น มีเหตุสืบเนื่องมาจากการที่หัวหน้างานลงทำงานด้วยตัวเอง แถมยังทำงานลงสู่ด้านล่าง ดังนั้นจดหมายขอบคุณที่ฉันเขียนส่งไปที่นั่น จึงเน้นความสำคัญอยู่ที่ประเด็นนี้ ฉันได้ทราบว่าเขานำเอาจดหมายฉบับนี้ออกมาอวดลูกศิษย์ทั้ง 5 คน หลังจากนั้นจึงพูดว่า “นี่ พ่อของเธอได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงฉัน” แสดงว่าเขาคงรู้สึกภาคภูมิใจมาก
ครั้นเดินทางต่อไปยังเกาะอาวาจิที่เมืองโกเบ ที่นี่มีปรากฏการณ์อย่างสำคัญที่จะนำมาเล่าให้ฟัง ในช่วงนั้นฉันกำลังมีความรู้สึกฝังอยู่ในใจว่า “ทำไมคนไทยถึงได้เห็นหน้าฉันเป็นกล้วยไม้ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำเรื่องกล้วยไม้” ความรู้สึกดังกล่าวมันได้ฝังอยู่ในรากฐานจิตใจฉันมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
เรื่องนี้ ถ้าจะให้ฉันตอบก็คงขอบอกว่า “ตลอดชีวิตที่ผ่านมา สิ่งที่ฉันนำปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมที่มุ่งมั่นขยายผลออกไปสู่เพื่อนมนุษย์ภายในโลกใบนี้” งานในครั้งนั้นปรากฏว่าเขาได้กำหนดให้ฉันเป็นคนพูดเปิดงานโดยมีมกุฎราชกุมารของประเทศญี่ปุ่นประทับฟังอยู่ตรงหน้าเวที นอกจากนั้นด้านหลังยังมีชาวต่างชาติหลายคนนั่งฟังอยู่ด้วย ส่วนบนเวทีนั้นนอกจากฉันเป็นผู้พูดแล้วยังมีผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาสังคมของญี่ปุ่นมานั่งประกบเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาอย่างสำคัญ
เย็นวันนั้น ฉันได้เริ่มต้นพูดว่า ตัวฉันเองได้มุ่งมั่นปลูกไม้ดอกต้นนี้มาตั้งแต่ตนยังเป็นเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง ฉันได้เฝ้ารดน้ำพรวนดินและบำรุงรักษาเอาไว้อย่างดีที่สุด จนกระทั่งไม้ดอกต้นนี้เจริญงอกงามขึ้นมา อีกทั้งยังออกดอกให้ผู้คนทั่วโลกได้ชื่นชมอย่างมีความสุข
นอกจากนั้น ยังพูดต่อไปอีกว่าต้นไม้ดอกพันธุ์ที่ท่านทั้งหลายมองเห็นกันจนคุ้นตานั้น แม้จะมีดอกสวยงามแค่ไหน ในที่สุดมันก็เหี่ยวเฉาร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ไม้ดอกพันธุ์ที่ฉันมุ่งมั่นนำมาปลูกและทำนุบำรุงอย่างสุดชีวิตนั้น นอกจากไม่เหี่ยวเฉาและร่วงโรยแล้ว ยังสามารถสืบทอดไปสู่ชนรุ่นหลังให้ได้ชื่นชมสมใจ เพราะฉะนั้นฉันจึงขออนุญาตตั้งชื่อไม้ดอกพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ความรักในเพื่อนมนุษย์”
ปรากฏว่า หลังจากเสียงที่ฉันพูดได้ขาดหายไปแล้ว สุภาพสตรีจากนานาชาติหลายคน ที่นั่งอยู่ด้านหลังขององค์มกุฎราชกุมารถึงกับก้มหน้าเช็ดน้ำตา
ปกติตัวฉันเอง ไม่ว่าเดินทางไปประเทศไหน ฉันรำลึกอยู่เสมอว่า ตนไม่ใช่นายระพี แต่เป็นคนไทยคนหนึ่ง จึงควรทำตัวให้คนอื่นเขาชื่นชม บางครั้งฉันแอบได้ยินคนพูดกันทางโทรศัพท์ว่า “องค์ปาฐกของเราคนนี้ทำหน้าที่เป็นทูตระหว่างประเทศที่ดีมาก”
มีอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งฉันหวนกลับไปนึกถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ขณะที่ตัวฉันเองได้ทุ่มเททั้งแรงใจแรงกายเพื่อเริ่มต้นต่อสู้กับกระแสสังคมซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำเอากล้วยไม้มาปลูก โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะกล้วยไม้มันกินไม่ได้จึงไม่ควรนำมาสนใจที่จะปลูก
กระแสดังกล่าว หากใช้หลักซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้ว่า “อะไรก็ตามที่มันเป็นปัญหา กลับกระแสนั้นได้ก็ย่อมแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง”
ดังนั้น หลังจากได้ยินคนไทยบางคนอ้างว่ากล้วยไม้กินไม่ได้จึงไม่ควรสนใจนำมาปลูก ฉันได้กลับทิศทางกระแสดังกล่าวทำให้รู้ความจริงได้ว่า “เพราะคนไทยส่วนใหญ่เห็นแก่การกินมากกว่าคุณภาพทางจิตใจ” ซึ่งผู้ที่ให้ความสำคัญแก่จิตใจย่อมมีนิสัยเป็นคนที่มีความอดทนสูง นี่แหละคือความจริงทั้งหมด
ปกติแล้ว ไม่ว่าเดินทางไปไหน ฉันมักนึกถึงคนไทยทั้งชาติ ไม่ว่าตัวเองจะรู้จะเห็นอะไรก็ตาม ล้วนแล้วอยากให้คนไทยซึ่งอยู่ทางบ้านได้รู้ได้เห็นร่วมด้วย ดังจะพบว่า ไม่ว่าฉันเดินทางไปไหนก็แล้วแต่ ตัวเองมักพกกล้องวีดีโอติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อไปถ่ายภาพสิ่งที่พบเห็นมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์เช่นที่ทำรายการ “ศาลาริมสวน” ให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 มาแล้วในอดีตจนกระทั่งทางสถานีไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมากนัก จึงต้องหยุดไปเอง
ค่ำวันนั้น หลังเสร็จภารกิจบนเวทีที่เกาะอาวาจิแล้ว ไม่มีการนัดหมายกันไว้ว่าจะไปร่วมงานเลี้ยงรับรองซึ่งจัดขึ้นในบริเวณสวนหลังอาคารการแสดง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของงานมารับเพื่อพาไปร่วมงานดังกล่าว
ฉันและบรรดาเพื่อนชาวต่างชาติอีก 4-5 คน ได้ยืนรอคนมารับอยู่ที่บันไดเลื่อนซึ่งเป็นทางลง รอเท่าไหร่ก็ไม่เห็นมีใครมารับ ในที่สุดจึงตัดสินใจเดินลงบันไดด้านหลังของอาคารซึ่งบันไดดังกล่าวมีลักษณะพับไปพับมาถึงสามท่อน และช่วงเวลานั้นอากาศมันก็มืดลงแล้ว
ด้วยความรีบร้อน ในที่สุดฉันก็เหยียบขั้นบันไดพลาดทำให้ตัวเองกลิ้งตกลงไปเกือบถึงพื้นล่าง กล้องวีดีโอหลุดจากมือตกลงไปหน้าแตก แขนฉันเองมีบาดแผลรวมสามแห่ง แต่ตัวเองก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก นอกจากเห็นว่ามันคุ้มแล้วสำหรับผลงานซึ่งพี่น้องคนไทยจะได้รับจากการไปร่วมงานครั้งนั้น ฉันยังเก็บกล้องวีดีโอกล้องนั้นเอาไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ
เรื่องทำนองนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ผลงานซึ่งคนไทยทั้งชาติได้รับนั้นมันเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด ซึ่งฉันคิดว่ามันคุ้มค่ายิ่งกว่าคุ้มเสียอีก
อนึ่ง หลังจากนั้นฉันได้เดินทางต่อไปยังเกาะรียูเนี่ยนไอซ์แลนด์ซึ่งอยู่ตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ยังมีเรื่องราวที่พบว่าต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหนัก โดยที่วันหนึ่งข้างหน้าอาจนำมาเล่าสู่กันฟังก็ได้ว่า ที่เกาะรียูเนี่ยนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นจนถึงขั้นจับปากกาเขียนหนังสือแทบไม่เป็นตัว คงนั่งสลบอยู่ในที่นั่งข้างท้ายเครื่องบินกลับบ้านเกิด
26 มิถุนายน 2553