การมอบรางวัลคนดีของสถาบันเนชั่น

ท่านที่เคารพทุกท่าน หลายท่านคงทราบว่าผมไปทำงานให้สังคมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำลำธารของสยามประเทศอยู่หลายวัน เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2554 ผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมงานในพิธีมอบ “รางวัลคนดี”ของ “คมชัดลึก”ซึ่งเป็นเครือข่ายของเนชั่น ณ เซ็นทรัลลาดพร้าว

ผมนั่งพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่นั่นตลอดรายการ ซึ่งมีผู้รับรางวัลหลายคน

แต่มีอยู่คนหนึ่งได้พูดอย่างน่าประทับใจว่า “เธอไม่ได้ภูมิใจที่ได้รับรางวัล หากภูมิใจที่ได้รับการยอมรับจากสังคม”

ผมนึกถึงช่วงที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้ผมได้รับรางวัลปราชญ์ของแผ่นดิน สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้ถามว่า “ผมภูมิใจอะไร”ผมตอบกลับไปว่า “ผมภูมิใจที่รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้จนถึงทุกวันนี้”

หวนกลับไปนึกถึงช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมให้โอกาสนิสิตออกไปเลือกหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังตกทุกข์ได้ยากมากที่สุด และได้รับอันตรายจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่างน่าเป็นห่วง

ส่วนตัวผมเองได้เดินทางไปทำงานและร่วมชีวิตกับนิสิต แม้แต่การอาบน้ำในปลักควาย รวมทั้งนอนกลางดินกินกลางทรายด้วยกัน

ช่วงนั้นผมฝันไว้ว่า นิสิตกลุ่มนี้คงจะออกมาทำงานอุทิศตนให้แก่สังคมอย่างผู้เสียสละในอนาคต

ช่วงนั้นมีนิสิตท่านหนึ่งจมน้ำตายอยู่ในลำน้ำมูล เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน คืนนั้นผมได้เข้าไปนอนในมุ้งเดียวกับศพนิสิตคนนั้นทั้งคืน เพราะผมรักเขายิ่งกว่าลูกตนเอง

เหตุผลที่ผมรักเขายิ่งกว่าลูก ก็เพราะผมรักแผ่นดินถิ่นเกิดยิ่งกว่าครอบครัวโดยถือหลักว่า “ถ้าแผ่นดินอยู่ไม่ได้ครอบครัวก็อยู่ไม่ได้”

ในช่วงนั้น มีนิสิตอยู่ในครอบครองร่วมหมื่นคนแล้ว ผมคิดตามหลักปรัชญาว่า “ถ้าเริ่มจากหนึ่งเดียวได้ ต่อไปก็สามารถขยายตัวออกไปเป็นหมื่นเป็นแสนได้ด้วย”เพราะฉะนั้นจึงไม่ดูถูกสิ่งที่เล็กที่สุดว่าไม่สำคัญ

เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่า “หนึ่งเดียวไม่สำคัญ”แต่ขอให้คิดว่า แม้หนึ่งเดียวถ้ามีชีวิตและวิญญาณ อาจขยายขอบเขตไปเป็นทั้งโลกได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ

เมื่อปีที่แล้วมีงานแสดงกล้วยไม้ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ผมไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้วมีโทรทัศน์ยูบีซีไปยืนถ่ายภาพกล้วยไม้อยู่ที่นั่น ครั้นเหลือบมาเห็นผมจึงหันมาถามว่า “ท่านอาจารย์มาดูกล้วยไม้หรือครับ”ผมตอบว่า “เปล่าครับ แต่ผมมาพิจารณาว่า แม้กล้วยไม้ที่มันมีราคาเพียง 2 บาทต้นเดียว มันกลายเป็นกล้วยไม้ทั้งโลกได้เอง”เรื่องนี้ขอให้ทุกคนโปรดนำไปคิด

บางคนพูดว่า “ทำตัวคนเดียวมันจะไปถึงคนอื่นได้ยังไง”นี่คือการอ้างเพื่อไม่ต้องการทำมากกว่า แทนที่จะคิดว่า “เราจะทำอย่างดีที่สุด และไม่รู้สึกท้อถอย”

ผมได้ร้อยกรองบทหนึ่งมาจากฝรั่ง จึงขอนำมาถ่ายทอดยังทุกท่านที่เคารพว่า

บุคคลผู้มีอุดมการณ์

บุคคลผู้มีความเพียรพยายาม

บุคคลผู้มีมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติ

บุคคลผู้มีสติปัญญา

บุคคลลักษณะนี้ ย่อมสามารถทำงานได้ทุกอย่างโดยไม่เลือก

และเป็นบุคคลที่สังคมต้องการ

บุคคลลักษณะนี้ย่อมไม่มีการปฏิเสธว่าฉันทำไม่ได้

แต่มีความมุ่งมั่นว่าฉันจะทำอย่างดีที่สุด

และเพียรพยายามที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่จำกัดตัวเอง

บุคคลที่มีคุณสมบัติดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ควรภูมิใจในการดำเนินชีวิต และไม่มองคนอื่นในแง่ร้าย

เรื่องนี้ฉันกล้าเขียน เพราะได้เขียนออกมาจากใจตนเอง   และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน

แม้จะมีศิษย์ไม่กี่คนที่ทำได้ในภายหลัง อีกทั้งไม่เป็นไปตามความหวัง แต่ฉันก็เชื่อว่า แม้มีเพียงหนึ่งเดียว ถ้ามีจิตวิญญาณที่สามารถเบ่งบานได้ในอนาคต วันหนึ่งข้างหน้าก็อาจจะมีเต็มบ้านเต็มเมืองให้เห็นได้

ร้ายที่สุดคือดีที่สุด

         ถ้าเรายังเห็นว่าคนอื่นร้าย แสดงว่าตัวเราเองยังดีไม่พอ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า เรามุ่งมั่นเอาชนะคนทำไม่ดีด้วยการทำดี

“ลงมือทำซิเธอ และทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ”

เมื่อวานนี้ฉันได้พบคำว่า “เค้าดาวน์”ในหนังสือพิมพ์หน้า 1 แถมยังย้ำว่า ใกล้ปีใหม่แล้วคงจะเค้าดาวน์

ฉันนึกในใจว่า “เอาอีกแล้ว”ทำไมถึงไม่คิดว่า “เค้าดาวน์นั้นควรรู้สึกได้ตั้งแต่เกิดมาสู่โลกใบนี้”เพราะเกิดมาแล้วเราก็ต้องนับถอยหลังไปสู่วันตาย

ขณะนี้ฉันมีอายุ 90 ปีแล้ว ดูเหมือนจะทำงานหนักมากยิ่งกว่าเก่า เพราะมันใกล้วันตายเข้าไปทุกที ถ้าไม่ตั้งใจทำงานแล้วปากจะพูดว่า “เราทำงานเพื่อรับใช้แผ่นดินได้ยังไงกัน”

นอกจากนั้นการที่ฉันทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ก็เพื่อให้กำลังใจแก่พวกเธอทั้งหลายโดยไม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้น หากส่งสัญญาณด้วยการปฏิบัติอย่างดีที่สุด ซึ่งภายในกระบวนการดังกล่าว ย่อมมีทั้งคุณธรรมประจำใจ รวมทั้งการออกกำลังกาย เพื่อคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้สังคมจากสิ่งที่ได้นำมาใช้ประโยชน์แล้วในอดีต

 

ระพี  สาคริก

16 ธันวาคม 2554

กรุงเทพฯ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *