มองจากวิชาสถิติศาสตร์ สู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และวัดวาอาราม

           วิชาสถิติศาสตร์ คือเครื่องมือที่มนุษย์ใช้คาดการณ์เปลี่ยนแปลงของชีวิตและสิ่งต่างๆ ภายในโลกใบนี้ มนุษย์แต่ละคนที่เกิดมาย่อมมีหน้าที่ในการเรียนรู้ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง ในที่สุดก็หมุนวนกลับมาหยั่งรู้ความจริงจากใจตนเอง
อนึ่ง ภายในวิชาสถิติศาสตร์นั้น ได้สอนให้มนุษย์รู้ความจริงว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ในโลกภายนอกนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้สมมติขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ทั้งสิ้น

แม้แต่ความหมายของประชากร หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Population ความจริงแล้วก็ไม่มีตัวตนที่แน่นอน แม้แต่จำนวนคนทั้งหมดก็ยังมีการเกิดแก่เจ็บตายทุกนาทีและวินาที เราจะไปหาอะไรที่ยั่งยืน ดังเช่น Population ก็ยังเท่ากับ Universe หรือ = 0 ดังนั้นจึงต้องมีตัวแทนที่เรียกกันว่า Variable ซึ่งแท้จริงแล้ว Variable ก็อยู่บนพื้นฐานที่อิสระ คงมีแต่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งสมมติไว้ว่า = 0
เวลานี้มนุษย์ตะเกียกตะกายไปหาสิ่งที่อยู่ภายนอกโดยคิดว่าคือของจริง ดังนั้นคนเราเกิดมา จึงมักเดินหลงทาง บางคนก็ดิ้นรนเข้าโรงเรียน บางคนก็ดิ้นรนเข้ามหาวิทยาลัย บางคนก็ตะเกียกตะกายไปเข้าวัดวาอาราม แต่ถ้ามีสติช่วยให้หวนกลับไปมองสู่ด้านหลังแล้วจะรู้ว่า ภายในจิตใต้สำนึกของแต่ละคนนั้นช่วยบอกให้เรารู้ว่า ทุกสิ่งไม่มีตัวตนให้ต้องไปยึดติดอยู่กับมัน นอกจากชี้ให้เห็นว่าความจริงนั้นมันอยู่ที่ไหนกันแน่
การหวนกลับไปดูด้านหลังย่อมช่วยให้มองเห็นความจริงว่า สิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้อยู่ด้านหน้านั้น มันเป็นเพียงภาพลวงตา แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงเครื่องมือ
ฉันนึกถึงพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งคือพระอาจารย์ชา ท่านเคยกล่าวชี้แนะเรื่องราวดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด
ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ถ้าเรารู้ได้ก็ย่อมรู้สิ่งอื่นๆ ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้ความจริงภายในจิตใจตนเองนั้นเป็นสิ่งประเสริฐสุดแล้ว
วิชาสถิติศาสตร์ถึงได้ชี้ไว้ว่า Population หมายถึง Universe และยังชี้ต่อไปอีกด้วยว่า ค่า = 0
การหาค่าที่เป็นตัวกลางซึ่งหมายถึงการนำ Variable มารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวน ก็ยังชี้ไว้อีกว่า จำนวน Variable แต่ละจำนวนนั้นอาจไม่ตรงกันกับตัวกลาง จึงต้องนำมาหาด้วยว่า ค่าตัวกลางนั้นมันห่างจาก Variable มากน้อยแค่ไหน

ในที่สุดก็มีทั้งบวกและลบ หักกลบลบกันแล้วมันก็ = 0 อีกนั่นแหละ แล้วเราจะทำยังไงต่อไป หมดหนทางเข้าจึงต้องเอาค่าของความเบี่ยงเบนที่มีทั้งบวกและลบมายกกำลังสอง เพื่อให้เครื่องหมายบวกและเครื่องหมายลบมันหมดไป หลังจากนั้นจึงเอาจำนวนมาแบ่งเพื่อหาตัวกลางของความเบี่ยงเบนอีกครั้งหนึ่ง
แต่ก็ยังไม่วายที่จะแก้ความสงสัย ดังนั้นผลที่ได้รับจึงต้องนำมาใช้เครื่องหมายบวกและเครื่องหมายลบวางไว้ข้างหน้า เพื่อจะได้รู้ว่าผลลัพธ์นั้นมันเป็นเพียงกรอบที่ว่า “อย่างมากเท่าไหร่ และอย่างน้อยเท่าไหร่” เช่นนี้เป็นต้น

ดังนั้นการเรียนรู้ของมนุษย์คงไม่มีอะไรดีเท่ากับการปฏิบัติจากความจริงที่อยู่ในใจตนเอง และผลลัพธ์ก็คือสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของแต่ละคน
ไม่เช่นนั้นเราคงหลงเดินเข้าไปหาโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือวัดวาอาราม แล้วกว่าจะได้ความจริงออกมา มันก็คงทุลักทุเลกันไปตามเรื่อง
นี่แหละการเรียนรู้ภายในสิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นรูปวัตถุนั้น แท้จริงแล้วตัวเราเองนั่นแหละที่เรียกกันว่า ต้องดิ้นรนกระเสือกระสนไปตามเรื่อง ทำให้โลกใบนี้วุ่นวายกันไปอย่างหาจุดจบได้ยาก
แล้วในช่วงที่เราหันหน้ามาทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ท่านจึงบอกว่าเป็นเรื่องน่าสงสารที่สุดใช่หรือเปล่า

ตัวฉันเองนับว่าโชคดีที่เกิดมาแล้วในที่สุดก็สังหรณ์ใจไม่ยอมเดินต่อไป แม้กระทั่งการไปเรียนเอาดอกเตอร์ในมหาวิทยาลัยเมืองนอก ทั้งนี้เพราะเริ่มรู้ทันเสียก่อนว่าอะไรเป็นของหลอกอะไรเป็นของจริง ความจริงแล้วแม้แต่ความรวยความจนมันก็ไม่มีในโลกใบนี้ หากรู้ทันก็ย่อมหยั่งรู้ได้ว่า ความรวยความจนนั้นมันเป็นของคู่กันกับความอดทนรวมทั้งอดกลั้นมากกว่า
ท่านจึงสอนให้รู้ว่า อย่ามองไปข้างหน้าด้านเดียว แต่ขอให้หวนกลับไปมองด้านหลังแล้วเราจะได้ไม่เสียทีสิ่งที่อยู่ในโลกใบนี้

ระพี สาคริก
17 พฤษภาคม 2555

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *