วิญญาณการเรียนรู้ กับการอนุรักษ์ศักดิ์ศรีของมนุษย์
เธอเพื่อนรักของฉันทุกคน ในขณะที่แผ่นดินถิ่นเกิดของเรากำลังจะลุกเป็นไฟ แม้กระทั่งการถูกน้ำท่วมอย่างหนักจนกระทั่งเอาตัวแทบไม่รอด แล้วเธอหายหน้าไปหลงอยู่กับความสบายที่ไหนกันหมด
ฉันบอกแล้วว่า พอลำบากทีไรก็มาบ่นโวยวายกันจนเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง พอเหตุการณ์มันคลี่คลายก็หวนกลับมาคิดแบบเก่ากันอีก เธอจะให้น้ำมันท่วมอีกสักกี่หนแล้วจึงค่อยได้สติอย่างที่โบราณเขาพูดกันว่า “มนุษย์ขึ้เหม็นเคี่ยวเข็ญเทวดา”
การจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันมันไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น คงตกอยู่ในความประมาทเพราะขาดสติเป็นส่วนใหญ่
เวลานี้เมื่อพูดถึงการจัดการปัญหาที่อยู่ในกระแสการจัดการโดยมนุษย์ เราก็มักมุ่งไปแก้ไขที่การสร้างวัตถุ แม้แต่การสร้างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกันจนเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง แต่ผลกระทบจากการจัดการที่มันไม่เข้าตา เธอกลับไม่รู้สึกสังหรณ์ใจเลยว่า การจัดการในมนุษย์นั้น ถ้าผู้ใหญ่เอากิเลสเข้าไปใส่ แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงมันก็คงพังราบไปในที่สุด
ในปัจจุบัน การนำปฏิบัติมาในอดีตมันได้ช่วยให้สังคมดีขึ้นหรือแย่ลงไปอีก ซึ่งคนที่เข้าไปถูกครอบงำโดยระบบดังกล่าว หากใครไปท้วงติงก็มักชี้แจงกลับมาในลักษณะที่โต้เถียงซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ผู้มีกิเลสแฝงอยู่ในใจ
ทุกวันนี้ เราจะหาบุคคลซึ่งดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานความศรัทธามันก็ยากแสนยาก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการงมเข็มในทะเล แต่เรากลับได้พบคนที่แสวงอำนาจแทบจะเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองไปหมด หากเดินไปทางไหนเราก็หลีกเลี่ยงแทบไม่พ้น
ดังที่ฉันเคยกล่าวฝากไว้ในอดีตว่า “คนที่ยกมือไหว้ด้านหน้าอาจไม่ใช่ของจริง แต่คนที่ยกมือไหว้อยู่ด้านหลังนั่นแหละคือของจริงเพราะเขาศรัทธาในบารมี”
เมื่อมีสิ่งนั้นก็ย่อมมีสิ่งนี้ เมื่อมีคนศรัทธาก็ย่อมบังเกิดความสุขจากบุญบารมีที่ได้ประกอบมาไว้ในอดีต
ความจริงแล้ว ถ้าเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ได้ลึกซึ้งถึงรากเหง้า เราย่อมพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น ธรรมชาติได้มอบมาให้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าชีวิตที่เติบโตขึ้นมาก่อนควรจะหวนกลับไปให้ความเคารพรักและยกย่องจากใจตนเอง เนื่องจากมีเมตตาธรรม และขันติธรรมอยู่ในจิตวิญญาณเพื่อให้ของจริงที่อยู่ในจิตวิญญาณเยาวชนแต่ละคนมันเติบโตขึ้นมาได้อย่างอิสระ
อย่างที่ฉันเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่งฝากไว้แก่แผ่นดินว่า “ผู้ใหญ่ใจดี”
ผู้ใหญ่ที่มีใจดีย่อมเห็นความดีของเด็กรวมทั้งชนคนรุ่นหลัง จึงไม่คิดใช้อำนาจกดหัวเพื่อไม่ให้ความดีของเด็กเติบโตขึ้นมาได้อย่างอิสระ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าธรรมชาติภายในจิตวิญญาณของเด็กมีโอกาสเติบโตขึ้นมาได้ เด็กย่อมเติบโตขึ้นมาบนพื้นฐานความภูมิใจในตนเอง อันหมายถึงศักดิ์ศรีของการดำเนินชีวิต
ฉันหวนกลับไปนึกถึงเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งโอกาสนั้นฉันได้รับพิจารณาให้เข้าไปรับพระราชทานรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ในวันนั้นสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ได้ขอนำฉันไปสัมภาษณ์ในรายการ “เที่ยงวันทันข่าว”ในวันนั้นเขาถามฉันว่า “ภูมิใจอะไร” ฉันได้ตอบกลับไปว่า “ฉันภูมิใจ เพราะได้รอดปากเหยี่ยวปากกา (ภาวะครอบงำทางวัตถุ) มาได้จนถึงบัดนี้”
นอกจากนั้น ถ้าหวนกลับไปค้นหาบทความที่ฉันเคยเขียนเอาไว้ในอดีตว่า แต่แรกตนก็ถูกให้ชื่อว่า เป็นนักวิชาการ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นนักอะไรต่อมิอะไรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งมาถึงบัดนี้กลายมาเป็นนักปรัชญา จึงทำให้รู้ได้ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น ซึ่งมันมีแต่ความหลากหลายของรูปวัตถุโดยที่ตัวฉันเองไม่ได้หลงยึดติดอยู่กับมันแม้แต่เรื่องเดียว ครั้นใครถามฉันก็ตอบประโยคเดียวว่า “ฉันไม่ได้เป็นนักอะไรทั้งนั้น นอกจากเป็นคน”
นี่คือการเข้าถึงชีวิต เพราะไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเครื่องประดับนานารูปลักษณะที่คอยจ้องจับทำร้ายความเป็นมนุษย์ของตน
ฉันพูดอยู่เสมอว่า สิ่งต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในบรรยากาศสภาพแวดล้อมภายนอกนั้น มันเป็นเพียงสิ่งสมมติทั้งสิ้น ส่วนของจริงที่เราควรรักษาเอาไว้อย่างสุดชีวิตก็คือ เงื่อนไขที่มันอยู่ในจิตใจเราเองมาตั้งแต่เกิด และจากการปฏิบัติย่อมให้โอกาสหยั่งรากลงสู่พื้นดินอย่างลึกซึ้ง
สิ่งดังกล่าว ถ้าเราสามารถต่อสู้กับอิทธิพลภายนอกได้อย่างเข้มแข็ง เราก็สามารถอนุรักษ์ความเป็นมนุษย์มันไว้กับชีวิตเราเองได้อย่างภาคภูมิใจ
ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงการศึกษา เราก็มักเดินหลงทางไปสู่ภาพพจน์ของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แทนที่จะรู้ว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ยิ่งนั้นมันอยู่ที่รากฐานจิตใจตัวเองโดยแท้ อันควรรักษาไว้อย่างดีที่สุด และจากการปฏิบัติย่อมให้โอกาสในการเรียนรู้ความจริงจากใจเราเองลึกซึ้งยิ่งขึ้น
คนเป็นครูอยู่ในสถาบันดังกล่าว ต่างก็ล้วนเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น ดังนั้น ตัวเราเองจึงควรอยู่อย่างเป็นครูตนเอง รวมทั้งใช้ศิลปะในการเรียนรู้จากเพื่อนมนุษย์
บางคนอาจคิดว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเคารพ ครูในห้องเรียนน่ะสิ”ฉันว่าไม่ใช่ เพราะตัวเธอนั่นแหละที่เข้าใจผิด เธอรู้หรือเปล่าว่า ถ้าเธอเคารพตัวเองก็ย่อมเคารพผู้อื่น นอกจากนั้นสิ่งสมมตินั้นแม้จะคอยจ้องทำลายตัวเราเอง ถ้าเรายังต่อสู้กับใจเราไม่ได้ สิ่งเหล่านั้นก็ไม่บังเกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง
ถ้าเธอได้อ่านบทความเรื่องหนึ่งซึ่งฉันเขียนไว้ว่า “ร้ายที่สุดคือดีที่สุด”นี่แหละสิ่งที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงอยู่ในโลกภายนอกนั้น หากใครคิดว่าร้ายก็ร้าย แต่ถ้าจิตใจเราดีก็ย่อมมองเห็นความดีของสิ่งเหล่านั้น เพราะช่วยสอนให้เราต่อสู้กับใจตนเอง เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนรู้สัจธรรมซึ่งธรรมชาติได้มอบมาให้ตั้งแต่เกิด อันควรรักษาไว้อย่างดีที่สุด
ถ้าใครยังคิดว่า คนอื่นเขาร้าย แสดงว่าใจเราเองยังดีไม่พอ ถ้าใจเราดีพอก็ย่อมมีอิทธิพลข่มใจคนอื่นด้วยความดี
ชีวิตฉันตั้งแต่เล็กมาจนเติบใหญ่ ยิ่งมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ฉันมองเห็นว่าลูกศิษย์ทุกคนคือครูที่ดีของตัวเอง ยิ่งลูกศิษย์คนไหนใครว่าร้าย ฉันก็ยิ่งเดินเข้าไปหาอย่างมีความสุข เพราะเขาช่วยสอนให้ฉันเติบโตขึ้นมาโดยมีโอกาสหยั่งรากฐานความดีลงสู่ส่วนลึกของหัวใจมาตลอด
ในช่วงนั้นฉันมักพูุดอยู่เสมอว่า ฉันคนเดียวจะเป็นครูสอนใครได้ แต่มีลูกศิษย์เป็นหมื่น ถ้าฉันขาดจิตใต้สำนึกที่คิดว่าเขาเป็นครูเราก็อย่าเป็นผู้ใหญ่เลย
แม้ในช่วงที่ฉันพ้นตำแหน่งมาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งมหาวิทยาลัยได้เชิญให้ฉันขึ้นมายืนอยู่บนเวที เพื่อพูดกับนิสิตปีที่ ๑ ทั้งหมด ฉันเดินขึ้นไปยืนอยู่บนนั้นแล้วหันหน้าลงมายกมือไหว้เขาก่อนเพราะมันเป็นธรรมชาติตัวฉันเอง
ฉันทำออกมาจากใจตนเอง และทำแล้วมีความสุขจึงทำ
เรื่องนี้ฉันลืมไปแล้ว เพราะไม่เคยนำมาใส่ใจเนื่องจากมันเป็นธรรมชาติของตัวเอง
แต่ปรากฏว่า ภายในกลุ่มนิสิตเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้มาเขียน
นี่แหละ เรื่องนี้แม้จะผ่านพ้นมานานหลายปี มันได้สอนให้เราหวนกลับมาพิจารณาที่ตัวเอง ก่อนที่จะก้าวเข้าไปยืนอยู่ท่ามกลางชนรุ่นหลัง รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่เป็นชาวนาชาวไร่ซึ่งแต่ละคนก็ดูถูกว่าเขาเป็นคนต่ำต้อย
แต่เหตุไฉนฉันมีอายุเกือบจะ ๙๐ ปีแล้ว แต่ก็ยังลงไปทำงานอยู่กับพวกเขาอย่างมีความสุขมาโดยตลอด
ชีวิตคนเราถ้าไม่มีความสุขก็ย่อมทำไม่ได้นานเช่นนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การจัดการศึกษาทุกวันนี้ ผู้บริหารรวมทั้งคนที่เป็นครูบาอาจารย์ได้เคยหันมาดูตัวเองบ้างหรือเปล่า ในขณะที่สังคมกำลังย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งน้ำท่วมในครั้งนี้ก็ยังไปโทษน้ำ นี่แหละฉันถือว่ามันเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าอย่างที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไป
ทุกวันนี้ฉันได้ยินแต่เสียงคนพูดกันว่า “การจัดการศึกษาเอาแต่ยัดเยียด”แต่มีซักกี่คนที่เข้าใจความหมายของคำว่า “ยัดเยียด”ส่วนใหญ่มักนิยมพูดตามขี้ปากคนอื่นไปเรื่อยๆ
ควรจะออกมาจากความจริงที่อยู่ในรากฐานจิตใจตนเองได้อย่างอิสรเสรี แทนที่จะให้คนอื่นเขามาบอกว่า จะต้องทำอย่างนั้นอย่างโน้น
แทบทุกเรื่องในสถาบันการศึกษาทุกวันนี้ ครูอาจารย์ส่วนใหญ่มีแต่ใช้ปากบอกโดยถือตนว่า “รู้ดีกว่าลูกศิษย์ จนกระทั่งหากมีคนซักถามหนักก็จะถูกกล่าวหาว่าลองภูมิ”ความจริงแล้วการรู้ดีหรือไม่ดีนั้น มันอยู่ที่จิตใจของลูกศิษย์เอง ถ้าครูมีจิตวิญญาณที่เคารพศิษย์รวมทั้งชีวิตคนที่ตกอยู่ในสภาพต่ำกว่าตน ดังเช่น ชาวนาชาวไร่ สังคมนี้ก็คงมีโอกาสดีขึ้นกว่าเก่า
ดังเช่น สัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมซึ่งทำเป็นรูปตาชั่ง นั่นแหละคือหลักธรรมะซึ่ง “เมื่อด้านหนึ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ย่อมลง” ดังนั้นยิ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่รวมทั้งเป็นครูบาอาจารย์ แต่ละคนก็ควรลดตัวลงมายืนอยู่ต่ำกว่าชนรุ่นหลัง รวมทั้งลดจิตใจลงมาอยู่ภายใต้ความเคารพรักร่วมด้วยเพื่อให้โอกาสแผ่นดินผืนนี้มันสูงยิ่งขึ้น
โบราณได้สอนเอาไว้ว่า “อยู่ก็ให้เขารัก จากไปก็ให้เขาคิดถึง”ทุกวันนี้เราแต่ละคนดำรงชีวิตอยู่แล้วมีคนให้ความเคารพรัก โดยไม่ถือชาติ ถือศาสนา รวมทั้งถือสาความต่างทางความคิดอ่านสักกี่คน แล้วยังมีน้ำหน้ามาขอให้ฉันเซ็นรับรองเพื่อเอางานประชุมระดับโลกมาจัดที่เมืองไทย ตัวฉันเองรู้อยู่แก่ใจว่า เธอที่รักทั้งหลายมีรากฐานจิตใจเป็นยังไง คนต่างชาติถึงได้ย้อนกลับมาขอให้ฉันเซ็นรับรองไปก่อนแล้วจะพิจารณา
สิ่งที่ฉันกล่าวมาแล้วทั้งหมดว่า นี่แหละตัวฉันเองไม่ได้ทำเรื่องกล้วยไม้แต่มีความกล้าหาญที่จะเดินทวนกระแสสังคมเพื่อพิสูจน์ความจริงจากใจ ทำให้คนอื่นเขาเคารพรักอย่างปราศจากกรอบทางวัตถุกำหนดใดๆ ทั้งสิ้น
ฉันขอฝากเรื่องนี้เอาไว้ให้ทุกคนซึ่งเป็นผู้ใหญ่ได้นำไปคิดค้นหาความจริง เพื่อจะได้ทำหน้าที่ให้สมกับความเป็นผู้ใหญ่อย่างภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเธออาจถูกประนามว่า “เกิดมาทั้งทีแล้วเสียชาติเกิด”
ช่วงนี้น้ำกำลังสร้างความทุกข์ให้แก่เธอทั้งหลาย การที่ฉันเขียนเรื่องนี้ก็เพราะเหตุว่า มีสัจธรรมประโยคหนึ่งซึ่งสอนไว้ว่า ถ้าจะตีเหล็กก็ขอให้ตีในขณะที่มันยังร้อน แล้วจะได้ผลมากกว่า
๒๒พฤศจิกายน ๒๕๕๔