ศิลปะ วิญญาณการจัดการศึกษา

มนุษย์ มีร่างกายเป็นบ้านที่อยู่อาศัย และมีจิตวิญญาณเป็นของจริง แม้แต่รูป รส กลิ่น เสียง ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากร่างกาย
หลักธรรมได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เพราะมีเหตุนั้น จึงไม่มีเหตุนี้”
ดังนั้น เพราะร่างกายมี รูป รส กลิ่น เสียง จึงทำให้คนที่ดำเนินชีวิตโดยยึดติดอยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง ย่อมทำให้มีผลทำลายสติปัญญาของตัวเองไม่มากก็น้อย
อนึ่ง เมื่อมนุษย์มีจิตวิญญาณ ดังนั้นศิลปกรรม อันหมายความถึงการนำปฏิบัติจากเงื่อนไขในด้านศิลปะที่แฝงอยู่ในจิตวิญญาณตนเอง ย่อมมีผลช่วยให้เกิดความเจริญในทางสติปัญญาบนพื้นฐานความงดงาม

ดังนั้น บุคคลใดที่มีการชำระล้างสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในจิตวิญญาณตนเองโดยใช้การฝึกฝนเกี่ยวกับศิลปะ จึงหวังได้ว่าเป็นผู้สร้างคุณงามความดี อันพึงนำไปสู่คุณประโยชน์แก่สังคมอย่างเป็นธรรมชาติ
จากประสบการณ์เท่าที่ผ่านพ้นมาแล้วเป็นเวลายาวนานพอสมควร ประกอบกับการมีรากฐานจิตใจที่อิสระถึงระดับหนึ่ง จึงมีนิสัยที่ขยันหมั่นเพียรในการสร้างคุณงามความดีฝากไว้ให้สังคมในช่วงที่มีชีวิตอยู่
ฉันได้สังเกตเห็นว่าคนที่มีวิญญาณในด้านศิลปะ หากมีรากฐานจิตใจที่บริสุทธิ์ถึงระดับหนึ่ง นอกจากไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมแล้ว ยังมีความเมตตากรุณา อีกทั้งมีนิสัยยกความสำคัญของเพื่อนมนุษย์เอาไว้เหนือตนเองอยู่เสมอ ดังนั้น “ศิลปกรรม” อันหมายถึงการนำปฏิบัติจากจิตวิญญาณตนเอง ย่อมมีผลนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมได้ทุกเรื่อง
อนึ่ง ฉันได้กล่าวไว้ในอดีตแล้วว่างานศิลปะนั้น บนพื้นฐานการจัดการได้มีแนวโน้มแบ่งแยกออกไปเป็นหลายสาขา เช่นเดียวกันกับการจัดการในเรื่องอื่นๆ ยิ่งเป็นการจัดการศึกษาด้วยแล้ว นับได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งได้แก่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่พื้นฐานตนเองของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงภายในรากฐานตนเอง อีกทั้งสังคมร่วมด้วย
ส่วนอีกด้านหนึ่งได้แก่การพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ดังนั้นหากนำเอาทั้ง 2 ด้านมาพิจารณาให้เห็นภาพรวม โดยเฉพาะจากการนำปฏิบัติย่อมนำไปสู่ความรับผิดชอบในหน้าที่อันพึงมีต่อสังคมอย่างเด่นชัด
อนึ่ง ดังได้กล่าวมาแล้วว่าภายใต้ระบบการจัดการ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ย่อมมีแนวโน้มแบ่งแยกกิ่งก้านสาขาอันเปรียบเสมือนตนไม้ใหญ่ที่มีการแตกกิ่งก้านสาขาอย่างปราศจากข้อจำกัด หรืออย่างที่เรียกกันว่า “การจัดการศึกษาแบบหอคอยงาช้าง”
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามนุษย์ไม่ตกอยู่ในสภาพ “ลืมตัว” ทุกลมหายใจย่อมกำหนดให้ตัวเองหวนกลับมามองเห็นความสำคัญของอีกด้านหนึ่ง ด้านนั้นคือ “รากแก้ว” อันหมายถึงผลการปฏิบัติซึ่งทำให้ส่วนดังกล่าวหยั่งลงสู่พื้นดินลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เธอที่รักของฉัน เธออาจได้อ่านพบบทความเรื่องหนึ่งซึ่งฉันเขียนไว้ในอดีตภายใต้ชื่อว่า “จากความหลากหลายถึงความเป็นหนึ่ง” สัจธรรมดังกล่าว ในวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ภายในภาพรวมอันควรมีอยู่ในรากฐานจิตใจตนเอง ควรถือว่าเป็นสิ่งสำคัญซึ่งแต่ละคนควรรักษาเอาไว้อย่างสุดชีวิต ทั้งนี้เพื่อให้ตนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและทำงานรับใช้สังคมอย่างมีความสุข
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้กล่าวไว้แล้วอีกเช่นกันที่ฉันเขียนฝากไว้ในอดีตว่า นอกจากพิจารณาถึงภาพรวมอันหมายถึงการแบ่งสาขาแม้แต่การแบ่งสาขาศิลปะแยกส่วนออกไปอยู่ต่างหาก แต่ในด้านนอนซึ่งเป็นระดับพื้นฐานของทุกสาขา มนุษย์แต่ละคนจึงไม่ควรลืมไปว่า “ศิลปะในการดำเนินชีวิต” ในเมื่อทุกคนจำเป็นต้องดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์อย่างหลากหลายทั้งนี้เพราะเหตุว่าภายในจิตใต้สำนึกนั้นควรจะรำลึกอยู่เสมอว่าทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด แต่ละคนซึ่งมีหน้าที่ในการเรียนรู้ ควรจะสนใจภาพรวมที่มีเหตุผลสานถึงซึ่งกันและกันทุกด้านอย่างเป็นบูรณาการภายในจิตใต้สำนึกของตนเอง อันหมายถึงพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต
แต่สภาพที่เป็นจริงซึ่งปรากฏอยู่ในกระบวนการจัดการศึกษาขณะนี้ ภายในภาพรวมของการศึกษา ถ้ามองออกไปสู่ภายนอก เราจะพบความจริงว่ามีการแบ่งแยกศาสตร์ทุกสาขา แม้แต่ศิลปะก็ยังมีการนำมากำหนดเป็นศาสตร์อีกสาขาหนึ่ง
ฉันเคยตั้งข้อสังเกต ไม่เพียงเท่านั้น “เมื่อตั้งข้อสังเกตแล้วก็ต้องทำจริง” ดังนั้นจึงมีบันทึกนำเสนอไปยังผู้บริหารการศึกษารายหนึ่งให้พิจารณาปรับโครงสร้างภายในภาพรวมของการจัดการศึกษาใหม่ โดยนำเอาการเรียนรู้ศิลปะมาใช้เป็นพื้นฐานของศาสตร์ทุกสาขา แทนที่จะนำงานในด้านศิลปะมากำหนดเป็นมุมตั้งแล้วแยกส่วนออกไปอยู่ต่างหากเท่านั้น
อนึ่ง ประเด็นนี้หาได้หมายความว่าการแยกกระบวนการเรียนรู้ศิลปะออกไปอยู่ต่างหากนั้นไม่สำคัญ แต่นั่นคือความหมายของ “ศิลปะศาสตร์” ซึ่งมีสถานภาพเป็นเพียงกิ่งแขนงหนึ่ง
หากในด้านการนำปฏิบัติ “ศิลปกรรม” อันหมายถึงการเรียนรู้จากการนำปฏิบัติซึ่งนำมาใช้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ศาสตร์ทุกสาขา ถ้าเราไม่ลืมตัวจึงไม่ควรลืมไปว่าแต่ละคนหาได้มีแต่ร่างกายไม่ หากมีจิตวิญญาณในการปฏิบัติอันจะนำวิถีชีวิตของแต่ละคนไปสู่ “ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างเป็นธรรมชาติ”
สิ่งที่นำเสนอในบทความเรื่องนี้ จากประสบการณ์เท่าที่ชีวิตฉันเองได้ผ่านพ้นมาแล้วนั้น ช่วยให้มั่นใจได้ว่าถ้านำปฏิบัติให้ถึงความจริงจากใจตนเอง การจัดการศึกษาเท่าที่ผ่านพ้นมาแล้วน่าจะสรุปได้ว่า มีความหวังอันจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของการดำเนินชีวิตที่มุ่งไปสู่ความสุขมากกว่าสภาวะที่ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาช้านาน อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นทุกที
ความจริง จากชีวิตที่ผ่านพ้นมาแล้ว หลายครั้งหลายหนเมื่อพูดถึงงานด้านศิลปะ หลังจากมีโอกาสแสดงออกช่วยให้บางคนสัมผัสได้และควรหยั่งรู้ถึงความจริงได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่กลับมีผลทำให้หลายคนมองเห็นเป็นเรื่องปรุงแต่ง บางคนถึงขนาดสัมผัสแล้วยังหัวเราะโดยเห็นเป็นเรื่องหยุมหยิมเช่นนี้เป็นต้น
แต่สำหรับคนที่รู้จริง สิ่งที่แสดงออกควรจะบ่งบอกให้อ่านได้จากแววตาที่ให้การยอมรับนับถือจากใจ แต่ก็ปรากฏว่าจากสภาพดังกล่าว มีน้อยคนที่จะรู้ได้เข้าใจได้และยอมรับจากธรรมชาติที่อยู่ในใจตนเอง
ฉันจึงขอฝากแง่คิดภายในบทความเรื่องนี้เอาไว้ให้ทุกคนได้นำไปพิจารณาเอาเอง หากเธอยังมีจิตใต้สำนึกที่รับผิดชอบต่อความยั่งยืนของสังคมซึ่งแต่ละคนควรมีส่วนร่วม

8 กรกฎาคม 2553

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *