ปัญหาภายในการจัดการอุดมศึกษาของไทย ควรคิดแก้ไขที่ไหน

เธอที่รักทุกคน ในปัจจุบันเท่าที่ประสบการณ์ชีวิตของฉันได้ผ่านพ้นมาด้วยเวลาอันยาวนานหลายสิบปีจนกระทั่งอายุใกล้จะถึง 100 ปีเข้าไปแล้ว อีกทั้งตัวเองก็ได้พยายามรักษารากฐานจิตใจให้อิสระอยู่ได้ จึงสังเกตเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและนำมาคิดวิเคราะห์ค้นหาความจริงโดยที่อยู่อย่างไม่ประมาทมาตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการทำงานเพื่อหวังที่จะให้บังเกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างมีประสิทธิพลตามเป้าหมายของการดำเนินชีวิต แต่ปรากฏว่าบุคลากรซึ่งถือว่าคือทรัพยากรของชาติในระดับพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างที่สุด ส่วนใหญ่ขาดความรับผิดชอบที่ควรจะเป็น

ซึ่งประเด็นดังกล่าวเกิดจากปัญหาที่แฝงอยู่ในจิตวิญญาณคนซึ่งมีบทบาทสำคัญอยู่ในระบบการจัดการศึกษา
ดังนั้น ทุกครั้งที่รู้สึกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นทำให้นึกถึงเงื่อนปมซึ่งแฝงอยู่ในรากฐานการจัดการศึกษา โดยที่หลายคนคิดว่าแก้ไขได้ยาก
ในปัจจุบัน บทบาทของการจัดการศึกษานั้นได้ขยายขอบเขตออกไปถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งผลพวงของสิ่งดังกล่าวนับว่าคือสิ่งสำคัญที่สุด แม้ในอดีตที่ผ่านมาได้มีผู้คนบ่นกันว่า การจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันไม่ได้ทำให้คนมีเป้าหมายอยู่ที่ความรู้ แต่อยู่ที่ปริญญาสูงๆ
ซึ่งสภาพดังกล่าวถึงกับมีการทำโครงการ “ปฏิรูปการศึกษา” มาแล้ว แต่ผลที่ได้รับก็เหมือนกับการโยนก้อนหินลงน้ำโดยที่หายเงียบไปและไม่บังเกิดผลที่เป็นไปตามความปรารถนา เพราะไม่มีการประเมินผลให้ถึงความจริง หากยังคงอยู่แบบตัวใครตัวมัน
เรื่องนี้สอดคล้องกันกับหลักธรรมที่ได้ชี้ไว้ว่า “เมื่อไม่มีสิ่งนั้น ก็ย่อมมีสิ่งนี้” ซึ่งพิจารณาดูแล้ว สิ่งที่สะท้อนออกมาปรากฏจากการปฏิบัติดังกล่าว สอดคล้องกันกับหลักวิชาพีชคณิต ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าศาสตร์ทุกสาขา จากการนำปฏิบัติที่ช่วยให้นำผลพวงมาพิจารณาวิเคราะห์เพื่อค้นหาความจริง ทำให้สรุปได้ว่า มนุษย์ค้นคว้าความจริงมาจากหลักธรรมเพื่อนำมาแปรรูปเป็นศาสตร์สาขาต่างๆ สำหรับนำมาใช้ประโยชน์ภายในกระบวนการจัดการศึกษาที่มีผลเชื่อมโยงไปถึงการใช้ประโยชน์ภายในสังคม ยิ่งสถิติศาสตร์ด้วยแล้วจะเห็นได้ชัดเจน
แต่คนที่ได้รับปริญญาสูงๆส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มที่ไม่อาจนำเอาวิชาการจากศาสตร์แต่ละสาขาซึ่งเป็นผลสำเร็จรูป กลับมาค้นหาความจริงให้ถึงรากเหง้าซึ่งตัวเองจำเป็นจะต้องมีรากฐานจิตใจที่อิสระถึงระดับหนึ่ง
ดังเช่นที่ภาษิตโบราณได้กล่าวฝากไว้ว่า “ขึ้นขี่หลังเสือนั้นง่าย แต่ลงจากหลังเสือนั้นซิยากยิ่ง” กับอีกบทหนึ่งซึ่งในอดีตได้กล่าวฝากไว้ว่า “ทำของง่ายให้เป็นของยากนั้นง่าย แต่ทำของยากให้เป็นของง่ายนั้นซิยากยิ่ง”
แม้แต่การศึกษาธรรมะก็ต้องแยกส่วนออกไปจากระบบที่อยู่บนพื้นฐานวิชาการ แทนที่จะค้นหาความจริงที่อยู่ภายในศาสตร์สาขาต่างๆก็ยังได้
ฉันนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานปีมาแล้ว ซึ่งช่วงนั้นทบวงมหาวิทยาลัยได้เกิดความคิดที่จะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะสอนลูกศิษย์อยู่ในสาขาไหนขอให้แทรกการสอนธรรมะเข้าไปไว้ในนั้นด้วย
ผลที่ปรากฏก็คือ มีอาจารย์บางคนที่บ่นว่า “ผมจะสอนวิชาที่ต้องการสอนก็ยังไม่มีเวลาพอ จะให้มาสอนธรรมะได้ยังไง” นี่คือเสียงสะท้อนที่บ่งบอกถึงปัญหาภายในรากฐานจิตใจ กุญแจดอกสำคัญซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วๆไปภายในแวดวงการจัดการอย่างเห็นได้ชัดแล้วว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงการจัดการศึกษานั้นอยู่ในจิตใต้สำนึกของครูผู้สอน”
สอดคล้องกันกับหลักธรรมที่ชี้ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า “เพราะมีสิ่งนั้นจึงมีสิ่งนี้” เช่นที่ฉันเคยกล่าวย้ำไว้แล้วว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างควรมองเห็นได้ 2 ด้านอีกทั้งควรรู้ว่าด้านไหนคือรากเหง้า” ซึ่งเหตุดังกล่าวย่อมเกิดจากจิตใต้สำนึกที่มีอิสรภาพถึงระดับหนึ่ง โดยที่ยึดติดอยู่กับเงื่อนปมต่างๆน้อยที่สุดอีกทั้งรักษาเอาไว้ให้มั่นคงอยู่ได้
อนึ่ง รากฐานความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ ยิ่งขึ้นไปมีตำแหน่งอำนาจในระดับสูง มักขาดจิตวิญญาณที่มองเห็นคุณค่าของการนำตัวเองลงมาสู่ด้านล่าง สมกับที่โบราณได้กล่าวฝากไว้ว่า “คนที่มีจิตวิญญาณรักการทำงานมุ่งลงสู่ด้านล่างย่อมเกิดปัญญาอีกทั้งช่วยให้การทำงานอย่างมีความสุข” ซึ่งกรณีนี้เห็นได้จากรอยพระบาทขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันซึ่งทรงงานลงมาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องกันมาแทบจะตลอดชีวิต
เมื่อกล่าวถึงประเด็นนี้ทำให้ตัวฉันเองนึกถึงหลักธรรมอีกบทหนึ่งซึ่งคนแต่ก่อนยังพอจะมองเห็นการปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ดังที่ได้กล่าวฝากไว้ว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอะไรก็ตาม อย่ามุ่งไปมองที่ตัวมัน แต่ควรค้นหาความจริงจากอีกด้านหนึ่ง อันหมายถึงที่มาที่ไป”
สิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด หากต้องการค้นหาความจริงให้ถึงที่สุดว่าโดยหลักการแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นควรจะคิดแก้ไขที่ไหน ถ้าใครมีวิสัยทัศน์ที่ตื่นอยู่เสมอย่อมมองเห็นความจริงได้อย่างลึกซึ้ง
แม้แต่ตราประจำกระทรวงยุติธรรม ทุกคนคงได้เห็นแล้วว่าคือรูปตาชั่ง ซึ่งสิ่งดังกล่าว ถ้าจะถามว่ามีความหมายอะไรเป็นพื้นฐาน คนที่สนใจนำสิ่งต่างๆมาคิดค้นหาความจริงอีกทั้งมีรากฐานจิตใจที่อิสระถึงระดับหนึ่ง ย่อมรู้ได้ว่า นั่นคือความหมายของหลักธรรมที่ได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เพราะมีเหตุนั้น จึงไม่มีเหตุนี้” หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวว่า “เพราะด้านนั้นขึ้น ด้านนี้จึงลง”
แต่เพราะความคับแคบซึ่งปรากฏเป็นความจริงอยู่ในรากฐานคนไทยส่วนใหญ่ยิ่งขึ้นไปทำงานอยู่ในระดับสูงด้วยแล้วมักยึดติดอยู่กับโครงสร้างของระบบ โดยเฉพาะระบบราชการที่มีการแบ่งแยกหน้าที่กันทำบนพื้นฐานแผ่นกระดาษกับตัวหนังสือแทนที่จะเข้าใจปัญหาต่างๆที่สานเหตุและผลถึงซึ่งกันและกันอันควรมีอยู่ในจิตใต้สำนึกได้อย่างลึกซึ้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นหลายคนก็มักนำไปพิจารณาค้นหาความจริงว่าปัญหามันเกิดขึ้นจากที่ไหน
ส่วนใหญ่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นที่ไหนก็มักมุ่งไปค้นหาความจริงจากที่นั่น ทั้งนี้เกิดจากการยึดติดอยู่กับกรอบที่ถูกกำหนดจากด้านบนลงมาสู่ด้านล่าง ฉันมีตัวอย่างที่ประสบมาแล้ว สิ่งนั้นก็คือครั้งหนึ่งผู้ว่าการ กทม.คนหนึ่ง ขณะทำงานอยู่ในตำแหน่ง ได้เชิญให้เราไปร่วมประชุมที่สำนักงานในบริเวณเสาชิงช้า ซึ่งฉันจำได้ว่าอย่างน้อยก็มีนักวิชาการอาวุโสอีก 2 -3 คน โดยมีฉันนั่งร่วมประชุมอยู่ในที่นั้นด้วยเพื่อคิดแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดภายในอาณาบริเวณเมืองกรุงเทพฯ
หลังจากพูดคุยกันได้พักใหญ่ ในที่สุดผู้บริหารกทม.ก็เกิดการฉุกคิดขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ! นี่ปัญหามันอยู่ในชนบทนี่นะ ว่าแล้วก็กล่าวต่อไปว่า นี่มันไม่ใช่ปัญหาภายในกทม. จึงไม่ใช่หน้าที่ของเรา”
จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า คำว่าหน้าที่นั้นมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งหมายถึงหน้าที่ซึ่งปรากฏเป็นตัวหนังสืออยู่บนแผ่นกระดาษ ส่วนอีกด้านหนึ่งควรหมายถึงหน้าที่ความเป็นคนไทยคนหนึ่งของสังคมท้องถิ่น ดังนั้นจึงควรหวนกลับมาค้นหาความจริงต่อไปอีกว่า “หน้าที่บนพื้นฐานด้านไหนที่สำคัญกว่ากัน ?” ฉันฟังแล้วรู้สึกว่าการประชุมครั้งนั้นได้เข้าถึงความจริงตามหลักธรรมะอย่างชัดเจน แต่ผู้บริหารคงคิดว่าการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดนั้นคงจะมุ่งลงไปอยู่ภายในบรรยากาศของชุมชนแออัดภายในเมืองกรุงเทพฯและใช้สิ่งนี้เป็นกรอบกำหนด นี่แหละถึงได้พูดกันว่า “การแก้ไขปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่มักประสบผลเสมือนพายเรืออยู่ในอ่างใบเล็กๆ”
ทั้งนี้ แม้แต่ในเอกสารการเชิญประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยไทยซึ่งกำหนดโดยคนระดับบนให้มีการประชุมในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2553 ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ แต่ก็ยังปรากฏข้อความที่ว่า “ได้กำหนดกรอบ” ซึ่งแฝงไว้ด้วยเงื่อนไขอย่างปราศจากการเน้นความสำคัญของ “จิตวิญญาณมนุษย์”อันได้แก่ชนรุ่นหลังซึ่งชีวิตยังด้อยโอกาสในด้านการเรียนรู้ ซึ่งวิญญาณดังกล่าว ธรรมชาติได้มอบมาให้โดยกำเนิด และควรได้รับโอกาสให้เจริญงอกงามขึ้นมาบนพื้นฐานตนเองอย่างอิสระโดยปราศจากกรอบกำหนดจากอิทธิพลภายนอก
อนึ่ง เงื่อนไขบนพื้นฐานความจริงภายในรากฐานจิตใจเยาวชนคนรุ่นหลังที่ควรมีโอกาสเจริญงอกงามขึ้นมาจากจิตใจตนเองอย่างอิสระอันควรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ครบถ้วน ประเด็นนี้ผู้ที่สนใจน่าจะได้อ่านบทความเรื่องหนึ่งซึ่งฉันเขียนเอาไว้ในอดีตภายใต้ชื่อว่า “เล็กที่สุดคือใหญ่ที่สุด”
ทั้งนี้ เป็นเพราะเหตุว่า ในขณะที่คนระดับบนส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับแผ่นกระดาษและตัวหนังสือมากกว่าความรู้ความเข้าใจซึ่งควรมองเห็นความสำคัญของจิตวิญญาณมนุษย์ โดยเฉพาะชนรุ่นหลังรวมทั้งผู้ให้กำเนิดซึ่งชีวิตยังตกอยู่ในสภาพที่ด้อยโอกาส
ดังนั้นฉันจึงเกรงว่า ข้อความที่เขียนไว้ว่า “การกำหนดกรอบ” ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นกระดาษนั้นอาจมีผลทำให้การปฏิบัติเกิดสภาพที่เอาจริงเอาจังซึ่งถูกกำหนดโดยคนระดับบนให้มีผลถ่ายทอดกระแสของเงื่อนไขจากด้านบนลงมาสู่ด้านล่างเหนือกว่าความรู้ความเข้าใจในตนเองที่ควรได้รับโอกาสให้ลงรากฝังลึกและเจริญงอกงามขึ้นมาจากด้านล่างโดยการนำปฏิบัติภายในจิตวิญญาณตนเอง
อนึ่ง การที่ฉันนำประเด็นนี้มาเขียน ก็หาใช่ว่าจะไม่ให้ความสำคัญแก่หลักสูตรและแผนงาน แต่คนระดับบนควรรำลึกอยู่เสมอว่าเงื่อนไขที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเยาชนคนระดับล่างนั้น น่าจะได้รับความเห็นใจและให้โอกาสเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความละเอียดอ่อนมากกว่าการใช้คำว่ากำหนดกรอบแม้ในระยะยาวก็ไม่จำเป็นจะต้องเอาจริงเอาจังเกินเหตุและผล
ถ้าคนระดับบนส่วนใหญ่มีจิตวิญญาณที่รักการทำงานมุ่งลงมาคลุกคลีอยู่กับเยาวชนคนรุ่นหลังอย่างมีความสุข ยิ่งเป็นเด็กอนุบาลรวมทั้งพ่อแม่ให้เกิดความรักความศรัทธาจากใจจริง
ควรมองให้ถึงเงื่อนไขซึ่งปรากฏอยู่ในจิตใต้สำนึกของความเป็นมนุษย์โดยเฉพาะเน้นที่เยาวชนคนระดับล่าง ดังที่ประสบการณ์ได้เคยสอนฉันไว้ว่า ในแวดวงการจัดการศึกษา มักมีแนวโน้มยึดติดอยู่กับหลักสูตรรวมทั้งแผนงานมากกว่าที่จะสะท้อนให้เห็นจิตใต้สำนึกอันควรหยั่งรู้ความจริงที่สานถึงรากฐานจิตใจ
หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้ามุ่งมองไปยังการจัดการอุดมศึกษาที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้ การคิดแก้ไขก็ควรหวนกลับมาพิจารณาที่ระดับอนุบาล แม้กระทั่งในระดับครอบครัวนับตั้งแต่ผู้ปกครองของเด็กให้สอดคล้องกันกับหลักธรรมดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด
ฉันหวังว่าบทความเรื่องนี้ควรจะให้ความหวังแก่สังคมไทยสำหรับการกำหนดวิถีการเปลี่ยนแปลงภายในรากฐานจิตใจชนรุ่นหลังซึ่งจำเป็นจะต้องมุ่งความสำคัญไปยังรากฐานจิตใจของผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารและจัดการอันพึงหวนกลับมาพิจารณาแก้ไขที่จิตใจตนเองก่อนอื่นอย่างสำคัญที่สุด

6 กรกฎาคม 2553

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *