ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea) กล้วยไม้ที่มีความงามระดับโลก

บัดนี้ เมืองไทยโดยภาพพจน์ ได้กลายเป็นเมืองกล้วยไม้ระดับโลกไปแล้วแต่มันจะเป็นไปได้สักกี่น้ำ เพราะความคิดในการสร้างสรรค์สังคมนั้น มันขึ้นอยู่กับฉันคนเดียว ส่วนคนอื่นต่างก็มีแต่ความเห็นแก่ตัวเป็นส่วนใหญ่

ฉันต้องกราบขออภัยที่พูดความจริง ในเมื่อตัวเองพูดอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างควรมองให้เห็นด้านดี แต่ในทางปฏิบัติมันก็ยากยิ่งกว่ายาก เพราะจะหาคนสู้ให้ถึงความจริงนั้นมันก็ยากแสนยากด้วย

เมื่อปี พ.ศ.2490ในช่วงนั้นสงครามโลกพึ่งเสร็จได้ปีกว่าๆ ส่วนตัวฉันเองก็พึ่งจบหลักสูตรปริญญาตรี 5ปี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาใหม่ๆ

ในอดีตนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่เคยมีครูบาอาจารย์จากภายนอก คงอาศัยบุคลากรภายในกระทรวงเกษตรมาช่วยกันสอนเป็นประจำ

ฉันจบหลักสูตร 5ปี จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งปีนั้นมีคนจบสาขาเกษตรเพียง 2คนเท่านั้น และ 1ใน 2ก็คือตัวฉัน ส่วนผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็อยากได้ตัวฉันเอาไว้เป็นครูอาจารย์ จึงเตรียมอัตราเอาไว้ให้อย่างเรียบร้อย

แต่นิสัยของฉันมันก็เหมือนคนบ้า ยิ่งใครอยากได้ฉันก็ยิ่งไม่เอา หากภายในจิตใต้สำนึกกลับรู้สึกท้าทายที่จะออกไปเผชิญกับปัญหาในชนบท แม้คนเดียวก็ยอม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างฉันไม่อยากรับคำสอนจากคนอื่น แต่ต้องการพึ่งพาตนเอง แม้กระทั่งการศึกษาก็ไม่อยากได้ครูที่ไม่ใช่ตัวเอง

นี่แหละ หลังจากออกไปอยู่ในบริเวณท้องถิ่นซึ่งเรียกกันว่า “ห้วยแม่โจ้” เพราะที่นั่นมีแต่น้ำในลำห้วย แต่ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ น้ำประปาก็ไม่มี หากเป็นเพราะฉันรู้เท่าทันว่า สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น

สิ่งที่ฉันสัมผัสมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กนั้นก็คือ คนในกลุ่มที่เรียกกันว่า “เจ้าขุนมูลนาย” ซึ่งเอากล้วยไม้มาเล่น แถมยังคิดดูถูกเด็ก รวมทั้งคนบ้านนอก

ครั้นมาอยู่ในสภาพที่อิสระในปี พ.ศ.2490นอกจากทำงานให้กับทางการอย่างเต็มที่แล้ว ฉันก็อดไม่ได้ที่จะนำเอากล้วยไม้มาเป็นเครื่องมือ เพื่อคิดแก้ไขปัญหาสังคมอย่างที่ตนเคยเห็นมาในอดีต

เรื่องนี้ฟังดูแล้วมันเหมือนคิดการใหญ่ ทั้งๆ ที่ตนเองยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่เปล่าเลย ตัวฉันเองกลับมีศิลปะในการผ่อนสั้นผ่อนยาว และผ่อนหนักผ่อนเบา

ในช่วงนั้นฉันคิดและตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนกล้วยไม้ให้มันกลายเป็นของมีค่า เพราะฉันไม่เห็นด้วยกับการที่เป็นคนไทยแท้ๆ แต่กลับไปโทษกล้วยไม้ว่ามันไร้คุณค่าและไร้ความหมาย ถ้าไม่ทำเพื่อพิสูุจน์ความจริงแล้ว ตัวเราเองนั่นแหละที่ควรจะถูกฝังลงดินแล้วเหยียบย่ำให้มันตายไปกับแผ่นดินผืนนี้

พอย้ายไปอยู่แม่โจ้ได้ไม่กี่วัน หลังจากเสร็จงานประจำเรียบร้อยแล้ว ฉันก็แอบขี่รถจักรยานไปเข้าเรือนเพาะชำ ซึ่งภายในนั้นมีหัวหน้าคนงานคอยเอาใจใส่ดูแลอยู่ในนั้น เขาชื่อ “อ้ายก๋อง” (พี่กอง) ฉันถามเขาว่า ในเมืองไทยนั้นมีกล้วยไม้อะไรที่มันดีที่สุด?

ฉันสังเกตเห็นเขาเหลียวหน้าแลหลังอยู่นาน แสดงว่าตัวเองไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน

ในที่สุดฉันก็บอกฉันว่า “ฟ้ามุ่ย”

ฉันถามเขาต่อไปว่า “กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยนั้นรูปร่างหน้าตามันเป็นยังไง?”ฉันสังเกตเห็นเขาเหลียวหน้าแลหลังอยู่นาน แม้กระทั่งจะตอบคำถามของฉันเขาก็เหลียวหน้าลอกแลก

ฉันสังเกตเห็นกล้วยไม้พื้นบ้าน 8-9กระเช้า มันแขวนอยู่ที่ชายคาเรือนเพาะชำ ฉันจึงเริ่มเปิดฉากใหม่โดยใช้มือขวาชี้ไปที่กระเช้ากล้วยไม้พวกนั้น แล้วถามว่า “นั่นมันอะไรกันแน่”

ดูเหมือนยิ่งทำให้ตัวเขาตกอกตกใจ แถมยังขมวดคิ้วก่อนที่จะตอบว่า “เขาว่าฟ้ามุ่ยเป็นกล้วยไม้ที่สวยนักสวยหนา”

ฉันนั่งฟังและรับรู้เรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่กล่าวว่า “เขาว่า”

พี่กองกำลังถูกโจมตีอย่างหนัก โดยที่ไม่รู้ว่ากล้วยไม้ฟ้ามุ่ยหน้ามันเป็นยังไง

จนกระทั่งเขากล่าวว่า “ฟ้ามุ่ยมันสวยจริงๆ ครับอาจ๋ารย์” “เขาว่ามันมีดอกสีฟ้าหม่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดอื่นเราคงหาดอกสีฟ้าหม่นได้ยากที่สุด”

แต่ฉันคิดอยู่ในใจว่า คนในภาคเหนือนั้นคงจะมีน้อยคนนักที่ได้เห็นกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย นอกจากการเดาแบบลมๆ แล้งๆ ไปตามเรื่อง นี่แหละที่มันทำให้ฉันต้องเพิ่มพูนความรู้สึกให้แก่สังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ฉันเริ่มต้นสั่งหนังสือตำรากล้วยไม้ที่เรียบเรียงโดย ดร.ไวท์ โดยสั่งจากขุนณรงค์ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณถนนสี่พระยา

บังเอิญตัวฉันเองก็เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับลูกชายท่านขุนณรงค์ซึ่งสมัครเข้ามาเรียนเกษตรที่แม่โจ้ ในปี พ.ศ.2483เขาชื่อ ชีวัน  ณรงคชวนะ

ท่านขุนณรงค์เป็นข้าราชการบำนาญ และจัดตั้งบริษัททั้งส่งออกและสั่งเข้าบรรดาต้นไม้พันธุ์ต่างๆ รวมทั้งหนังสือตำหรับตำรา

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า American Orchid Culture หนังสือเล่มนี้ราคาสั่งถึง 250บาท แต่ในช่วงนั้นตัวฉันเองได้รับค่าจ้างคล้ายกับคนงานในไร่ ประมาณเดือนละ 512บาท

เธอลองคิดดูเองก็แล้วกันว่า ตัวฉันเองมีวิญญาณการต่อสู้มากแค่ไหน ฉันสู้เก็บหอมรอมริบ แถมยังอดมือกินมื้อ กว่าจะได้หนังสือก็เสียเวลาร่วม 3ปีเต็มๆ

ในช่วงปี พ.ศ.2490บังเอิญฉันรีบแต่งงานเพราะต้องการเพื่อนไปอยู่ป่าด้วยกัน หากขาดประสบการณ์จึงไม่รู้ว่า คนอื่นไม่ได้อดทนอย่างเรา ดังนั้นตัวฉันเองจึงต้องทำใจเพื่อยอมรับสิ่งที่พึ่งผ่านพ้นมาได้ไม่นาน เพราะฉันมีความชอบธรรมอยู่ในส่วนลึก ดังนั้นฉันจึงคิดที่จะสละเรื่องอื่นเพื่อเอาเรื่องนี้ไว้ก่อน

ชีวิตฉันมีบุญมาตั้งแต่เด็ก เพราะตัวเองไม่ใช่คนลืมง่าย หากต้องการทำอะไรก็ตาม ถ้าโอกาสมันยังไม่มีฉันก็คงต้องถือขันติ ซึ่งหมายความว่า “ฉันต้องนิ่งเงียบไว้ก่อน แต่ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ฉันจะลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่าง”

แม้แต่การลงมือปลูกกล้วยไม้เพื่อทำงานวิจัยค้นคว้าเอาออกมาเปิดเผย ฉันก็ยังต้องใช้เศษไม้รวมทั้งทางมะพร้าวเก่าๆ มาสร้างเรือนอยู่ใต้ต้นจำปา ซึ่งส่งกลิ่นผ่านเข้ามาทางหน้าต่างบ้านทุกวัน

เพราะไม่มีเงินนี่แหละ บังเอิญฉันไปได้ฟ้ามุ่ยมาต้นหนึ่ง แม้ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นฟ้ามุ่ยแต่ก็ต้องเก็บเอามันมาเลี้ยงไว้ก่อน ฉันเฝ้าดูแลรดน้ำมันทุกวัน แม้งานเวลาราชการมันก็หนักอยู่แล้ว กว่าจะกลับเข้าบ้านมันก็ปาเข้าไปหกโมงเย็น

แต่พอกลับถึงบ้านแล้วแทนที่จะพักผ่อนกลับเลี้ยวเข้าไปในเรือนกล้วยไม้ก่อนทุกครั้ง

จนกระทั่งมีเสียงตะโกนมาแต่จากบนบ้านว่า “เอาหมอนไปนอนกับมันซะด้วยเลยเป็นไง!”

นี่แหละมันแสดงเห็นว่าฉันเป็นคนทำอะไรทำจริง เพราะลืมสิ่งอื่นหมดทุกอย่าง

อยู่มาวันหนึ่งจึงรู้ว่า ภรรยาฉันติดต่อมาหาพ่อของเธอเพื่อขอให้ไปพูดกับเจ้านายเพื่อย้ายฉันกลับกรุงเทพฯ ส่วนตัวฉันเองก็เริ่มรู้ว่า คนใกล้ชิดกำลังเล่นไม่ซื่อ

แต่มันก็ดีไปอย่างหนึ่ง เพราะถ้าคนใกล้ชิดเล่นไม่ซื่อก็ย่อมมีการบ้านให้ต้องแก้ไข เนื่องจากตัวฉันเองเป็นคนท้าทายที่จะต่อสู้กับอุปสรรคนานับประการ

เรื่องของฟ้ามุ่ยมันยังไม่จบ

เพราะตัวฉันเองยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อการวิจัยค้นคว้าหาความรู้เรื่องกล้วยไม้ เพื่อเอามาใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับคนที่มีจิตวิญญาณหวงแหนคนอื่น

ประเด็นดังกล่าวมันทำให้ตัวฉันเองมีศัตรูเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่เพราะเหตุว่า ศัตรูนี่แหละที่สอนให้ตัวฉันเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็งยิ่งขึ้นเป็นลำดับช่วงหลังเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ดังเช่นช่วงหลังที่ใครก็ได้หากเข้ามาเกี่ยวกับฉันในชีวิตประจำวัน

อยู่มาวันหนึ่งระหว่างที่เดินทางไปภาคเหนือ ฉันได้ยินคนในกลุ่มที่สนใจกล้วยไม้พูดถึงกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย ดูเหมือนมันจะมีผลกระตุ้นให้ฉันมีแรงทำงานหนักยิ่งกว่าเก่า

การจัดสวนกล้วยไม้เกิดขึ้นที่ไหน

เมื่อปี พ.ศ.2480หลังจากฉันเดินทางไปปาฐกถาในที่ประชุมกล้วยไม้นานาประเทศ ฉันได้พบว่าการนำกล้วยไม้มาแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้นั้น เขามักใช้กล้วยไม้เป็นเครื่องมือจัดสวนที่สวยสดงดงามด้วยศิลปะนานาชนิด ครั้นหวนกลับมาดูเมืองไทยในช่วงนั้น เราได้เห็นแต่บรรดาเศรษฐีมีเงินนำเอากล้วยไม้มาแขวนราวแล้วตัดสินกันอย่างเอาจริงเอาจัง

ฉันอยากจะสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยรู้จักใช้กล้วยไม้จัดสวนแต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะคนกรุงเทพฯ ดื้อยามาก จนกระทั่งบอกอะไรก็ไม่เชื่อ จนกระทั่งฉันจึงคิดทำแบบกลับ โดยเริ่มต้นจากต่างจังหวัดเข้าไปก่อน

พอดีกันกับปี พ.ศ.2500ฉันและคณะนิสิตเกษตรได้นำวงดนตรีขึ้นไปเล่นที่เชียงใหม่ เพื่อเก็บเงินสร้างหอประชุมพุทธสถาน นี่แหละที่จินตนาการในการสร้างสรรค์มันเกิดขึ้น จนกระทั่งหอประชุมพุทธสถานสร้างสำเร็จโดยมีท่านปัญญานันทภิกขุเป็นองค์ประธาน

ฉนเริ่มคิดได้ว่า ความจริงแล้วการที่พวกฝรั่งเขาเรียกกันว่า “งานแสดง” นั้นมันเหมาะสมแล้ว แต่คนไทยติดนิสัยเรียกกันว่า “งานประกวด” ซึ่งแสดงว่า คนไทยยึดติดอยู่กับอัตตาสูงกว่าเมืองฝรั่ง ทั้งๆ ที่ตัวฉันเองก็เขียนแก้ไขความคิดแบบนี้แต่ก็สำเร็จได้ยาก เพราะเหตุว่าทุกครั้งที่มีงานแสดง คนไทยมักมีแนวโน้มทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงรางวัลกันเองอยู่เสมอ

ช่วงนั้นเราเริ่มจัดงานแสดงกล้วยไม้ขึ้นในหอประชุมพุทธสถานขึ้นในครั้งแรก โดยใช้ศิลปะร่วมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีการนำเอาเกวียนจำลอง หม้อน้ำต้น กระบวย รวมทั้งจำลองเอาบ้านในชนบทมาจัดไว้ร่วมกับกล้วยไม้ในท้องถิ่น

“ถ้าไม่มีวันนั้นก็ย่อมไม่มีวันนี้”ดังนั้น ถ้าไม่มีการจัดในครั้งนั้นที่เริ่มต้นมาจากวัตถุธรรมประจำประเพณีของคนทางเหนือ บัดนี้เราก็คงไม่มีการนำเอากล้วยไม้มาจัดสวน

จากนั้นมา เราเริ่มพูดถึงฟ้ามุ่ยกันมากขึ้น เพราะฮาวายซึ่งเป็นดินแดนดั่งเดิมของกล้วยไม้อุตสาหกรรมมาก่อนเรา เขาได้ส่งเอกสารเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยของเรา ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่โฆษณาขายสินค้าเกี่ยวกับกล้วยไม้ปนอยู่ในนั้น สิ่งแรกก็คือ การที่ฮาวายใช้ดอกกล้วยไม้นำมาร้อยมาลัยคล้องคอให้นักท่องเที่ยว ฉันได้เริ่มความคิดที่จะนำเอาดอกหวายที่มันตกหล่นอยู่ในโรงแพ็คมารวมกันเข้า เพื่อร้อยมาลัยคล้องคอให้นักท่องเที่ยว นอกจากนั้น มีบริษัทที่ชื่อ “โคโน่” ได้นำเอากล้วยไม้พื้นบ้านที่หายากและเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางมาจากฟิลิปปินส์ เพื่อเอามาติดเบอร์เป็น เบอร์ 1เบอร์ 2เบอร์ 3เบอร์ 4จนกระทั่งถึง เบอร์ 17

หลังจากนั้นก็เอาเบอร์ 1ผสมเบอร์ 2เอาเบอร์ 1ผสมเบอร์ 3เอาเบอร์ 1ผสมเบอร์ 4เบอร์ 5เบอร์ 6ไล่ไปเรื่อยๆ ในที่สุดแวนด้าฟิลิปปินส์มันก็มีอยู่ชนิดเดียว แต่นำเอามาคัดพันธุ์จับคู่กันเป็นคู่ๆ ส่วนฉันก็นำฟ้ามุ่ยมาสอนให้คนเชียงใหม่ติดเบอร์ทำเป็นเบอร์ต่างๆ หลังจากนั้นจึงจับคู่กันเป็นคู่แบบเดียวกัน เพื่อให้ผู้ซื้อมีความหวังว่าจะได้ฟ้ามุ่ยที่คัดพันธุ์แล้วว่าดี

ฉันยังจำได้ว่า ขณะที่มีการแสดงกล้วยไม้ในหอประชุมพุทธสถานนั้นมีฟ้ามุ่ย 2ต้นได้รับรางวัลที่ 1กับที่ 2ในที่สุดเจ้าของก็มาขอให้ฉันเป็นเจ้าภาพแต่งงานกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยทั้ง 2ต้น เพื่อหวังว่าเราจะได้ลูกฟ้ามุ่ยที่มันดีกว่าเก่า

ฉันจำได้ว่า 1ใน 2ต้นคือฟ้ามุ่ยของ ศาสตราจารย์ น.พ.ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์คณะแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลเชียงใหม่

ฉันไม่ได้คิดเลยว่า กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย 2ต้นที่เอาเกสรมาแลกกันผสมมันจะเกิดฝักที่มีอายุยืนยาวผิดปกติ

1เดือนก็แล้ว 2เดือนก็แล้ว 3เดือนก็แล้ว ฝักมันก็ยังเขียวอยู่ จนกระทั่งถึง 17เดือนจึงเริ่มสุก

ฉันเริ่มคิดแล้วว่า เราจะต้องใช้วิธีผ่าท้องออก หรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ฉันจะต้องเริ่มค้นคว้าเรื่องการเพาะฝักอ่อน ถ้าไม่เกิดเรื่องฝักกล้วยไม้อายุนานเกินควรฉันคงไม่เริ่มต้นคิดที่จะใช้เทคนิคเกี่ยวกับการเพาะฝักอ่อน

นอกจากนั้น ฉันเริ่มต้นรู้ว่ากล้วยไม้ต่างชนิดกัน ถ้าเอามาผสมกัน อายุฝักลูกผสมมันจะสั้นเข้า แต่ถ้าเอาชนิดเดียวกันมาผสมกัน ฝักมันจะมีอายุยาวนานมากจนกระทั่งเกินธรรมชาติ

นี่แหละที่เป็นแรงจูงใจให้ฉันค้นคว้าเรื่องการเพาะเมล็ดอ่อนขึ้นในสวนหลังบ้าน โดยเริ่มต้นจากการไปซื้อเอากล้วยไม้ที่ชื่อเข็มแสดซึ่งมีฝักติดมาจากป่า หลังจากนั้นจึงนำมาตัดฝักเพาะให้เป็นต้นอ่อน

เธอเชื่อไหมว่าฉันเพาะกล้วยไม้แบบฝักอ่อนครั้งแรก แล้วแลเห็นมันงอกขึ้นมาเพียง 3-4ต้น ฉันดีใจแทบตาย แต่แทนที่จะคิดหวงคนอื่น เพราะตัวเองเริ่มต้นทำก็ทั้งยาก ฉันกลับนำออกมาเปิดเผยให้หมด

ฉันเริ่มต้นหวนกลับมาค้นคว้าเพื่อเพาะฝักกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งรู้ว่าอายุฝักมันยาวถึง 17เดือน แทนที่จะเลิกล้มความตั้งใจ แต่ดูเหมือนจะสู้หนักมากยิ่งขึ้นไปอีก

นี่แหละฉันถึงได้พูดว่า คนเดี๋ยวนี้ได้ความรู้มาโดยไม่รู้ว่าก่อนที่จะมาถึงตัวเองนั้นมันยากเย็นแค่ไหน ดังนั้นจึงเอาแต่ขัดแย้งระหว่างกันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แม้กระทั่งเมื่อมีงานแสดงกล้วยไม้ไม่ว่างานใหญ่งานเล็กมักแย่งกันตัดสินจนไม่อายคนอื่น แล้วยังมีหน้ามาต้องการงานนานาชาติ ถ้าไม่รู้จักอายมันก็ยิ่งอับอายขายหน้าคนชาติอื่นเขาเข้าไปอีก

ฉันนึกถึงกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยซึ่งมีสีฟ้าหม่น และเป็นสีที่หายากในกล้วยไม้อย่างอื่น เพราะมันสวยงามและหายากนี่แหละจึงทำให้คนไทยไม่รู้จักภูมิใจในตัวเอง

อยู่มาวันหนึ่งในปี พ.ศ.2506ฉันเดินทางขึ้นไปสำรวจพันธุ์ไม้ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวรตั้งแต่เดือน เมษายน ซึ่งในฤดูนั้นคนกรุงเทพฯ ก็มักบ่นกันว่า อากาศมันร้อนและแห้งแล้งจัด

แต่ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวรนั้น ในเดือนเมษายนเราต้องไปนอนในกระต๊อบที่มุงด้วยใบไม้คืนวันนั้นฉันนอนไม่หลับถึงกับลุกขึ้นมานั่ง เอามือสองข้างจับเท้าตัวเองเอาไว้แน่น เพราะอากาศมันเย็นจนกระทั่งชาไปหมด

แถมกระต๊อบเจ้ากรรมพื้นมันก็เอียงเสียด้วย พลิกตัวนิดเดียวก็อาจกลิ้งพลัดตกลงมาอยู่ที่พื้นดินก็ได้

เช้าวันรุ่งขึ้นเราใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูบนยอดไม้ ฉันแลเห็นฟ้ามุ่ยขึ้นอยู่ริบๆ ครั้นลองมองมาที่พื้นดินจึงเห็นกระทิงตัวใหญ่มันพึ่งจะลุกขึ้นหนีเราไปต่อหน้าต่อตา

บริเวณนี้เชื่อมโยงไปถึงอุ้มผาง รวมทั้งอมก๋อย

ครั้นหวนกลับมายืนอยู่เมืองเชียงใหม่ หูก็ได้ยินเขาพูดกันว่า “ฟ้ามุ่ยดีต้องที่อุ้มผาง” นี่แหละ

ครั้นเขียนเรื่องนี้ลงในคมชัดลึก ก็มีคนติดต่อเข้ามาหา ซึ่งบอกว่าพวกเขาอพยพย้ายไปตั้งรกรากอยู่ในบริเวณ “อมก๋อย” เพราะราชการต้องการพื้นที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำแห่งใหญ่ เพื่อผลิตพลังไฟฟ้า

ไม่เพียงเท่านั้น อยู่มาวันหนึ่งฝรั่ง 2คน ซึ่งเขียนหนังสือกล้วยไม้เกี่ยวกับฟ้ามุ่ยด้วยกันทั้งคู่ คนหนึ่งอยู่นครนิวยอร์ก ส่วนอีกคนหนึ่งอยู่มลรัฐฟลอริดา

ในที่สุดก็เกิดเรื่องทะเลาะกัน ต่างคนต่างโยนกันไปโยนกันมาว่า ดอกฟ้ามุ่ยมันไม่มีจุด

ครั้นเถียงกันจนกระทั่งหาจุดจบไม่ได้ ในที่สุดทั้งสองคนก็หันกลับมาฟ้องฉันเพื่อให้ฉันตัดสินว่าใครผิดใครถูก

ในที่สุดเรื่องราวของฟ้ามุ่ยมันก็ไม่ใช่กล้วยไม้ แต่มันเป็นเรื่องของมนุษย์กับมนุษย์

เช่นเดียวกันกับน้ำท่วมครั้งนี้ หลายคนมุ่งไปโทษน้ำ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องกิเลสของมนุษย์นี่แหละ

 

ระพี สาคริก

30พฤศจิกายน 2554

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *