ระลึกถึงครูแสน ธรรมยศ

ครูแสน ธรรมยศ ท่านเป็นครูผู้นำเอาวิชาปรัชญามาสอนในมหาวิทยาลัยไทยเป็นคนแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.2474

ฉันไม่ทราบว่ามาถึงปัจจุบันปี พ.ศ.2554แล้ว จะเหลือใครบ้างที่เคยเป็นลูกศิษย์ครูแสน หรือว่าจะมีสักกี่คนที่เคยรู้ว่า ครูแสนคือนักประพันธ์มือเอกคนหนึ่งของเมืองไทยในขณะนั้น

หวนกลับไปนึกถึงช่วงปี พ.ศ.2480ในช่วงนั้น คนหนุ่มมักนิยมไปสมัครเรียนทหารในโรงเรียนนายร้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่ริมถนนราชดำเนินกลาง

ฉันคิดว่า เด็กหนุ่มรุ่นนั้นคงต้องการสวมชุดฟอร์มของนักเรียนนายร้อยเพื่อล่อตาผู้หญิง ตัวฉันเองก็พลอยเป็นไปตามเขาด้วย หลังจากนั้นมีนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยรวม 3คนออกมาตั้งโรงเรียนสอนในหลักสูตรชั้นมัธยมบริบูรณ์

คนหนึ่งได้แก่ ร.อ.หลวงบรรหารศุภวาสน์ สอนวิชาพีชคณิต ร.อ.หลวงสุนทรสารศาสตร์ สอนวิชาคณิตศาสตร์ และร.อ.หลวงพิทย์ฯ สอนวิชาวิทยาศาสตร์

อนึ่ง โรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนกวดวิชา แต่เป็นโรงเรียนเตรียมการสอบคัดเลือกเข้าไปเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก เพราะต้องแข็งในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ตัวฉันเอง หลุดออกมาจากโรงเรียนศิลปากรแผนก นาฎดุรยางค์ก็เพราะนักเรียนนายร้อยเทคนิคคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า กวี ลำเลียงพล ซึ่งชีวิตครั้งสุดท้ายของเขาคือ พลอากาศเอกกวี(ก่อนถึงแก่กรรม) ทั้งนี้เพราะในช่วงที่เขาเป็นนักเรียนนายร้อยนั้น เขาได้มาพบพูดคุยกับฉันเป็นประจำแทบทุกสัปดาห์ ซึ่งฉันเรียกเขาว่า “พี่วี”

ในช่วงนั้นยังไม่มีโรงเรียนนายร้อยทหารอากาศ และยังไม่มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ดังนั้นคนที่จะเข้าไปเรียนตำรวจจะต้องผ่านหลักสูตรนักเรียนนายร้อยทหารราบ 3ปี ส่วนคนที่จะเข้าไปเรียนเป็นนักบินรวมทั้งทหารปืนใหญ่และทหารช่าง จะต้องผ่านหลักสูตรนักเรียนนายร้อยเทคนิครวม 5ปี และต้องเรียนวิชาคำนวณสูงกว่าทหารราบและตำรวจ

พอดีกันกับในช่วงนั้น หลักสูตรมัธยมบริบูรณ์ของรัฐบาลได้เปลี่ยนจากมัธยม 8มาเป็นมัธยม 6โดยเอา 2ปีสุดท้ายของมัธยมบริบูรณ์ไปเป็นพื้นฐานของอุดมศึกษาที่เรียกกันว่า “โรงเรียนเตรียม” แต่ยอมให้คนที่ผ่านมัธยม 6ไปแล้วมีโอกาสเรียนต่อจนกระทั่งจบหลักสูตรมัธยม 8และไม่ต้องเข้าโรงเรียนเตรียม

ช่วงนั้น ฉันเรียนอยู่ที่โรงเรียนราชบุรีวิทยาลัยซึ่งเป็นวังเก่าของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตั้งอยู่เชิงสะพานเทเวช บังเอิญโรงเรียนนี้กำลังดังมาก เพราะมีเด็กหนุ่มต้องการเข้าโรงเรียนนายร้อย

ตัวฉันเองมีชีวิตยืนอยู่ตรงนี้พอดี อันหมายถึงกำลังขึ้นชั้นมัธยม 7ก่อนที่โรงเรียนนี้จะแตกแยก เพราะนายทหารทั้ง 3คน เกิดแตกความสามัคคี

ครูแสน ธรรมยศ ได้ถูกเชิญให้ไปสอนวิชาปรัชญาภาษาอังกฤษอยู่ในชั้นมัธยมปีที่ 7ตอน 5และตัวฉันเองก็เรียนอยู่ในชั้นนี้

ครูแสนมักเข้ามาสอนให้นักเรียนท่องกลอนภาษาอังกฤษดังตัวอย่างเช่น

Man of spirit

Man of will

Man of muscle

Brain and power

Fit to cope with every thing

This a want of every ware

Not a washes word of I can’t

But a noble one I will try

Do what you want to do

This is a true an earnest yield

เช้าวันรุ่งขึ้นฉันก็ถูกสั่งให้มายืนหน้าชั้นแล้วว่ากลอนบทนี้ให้จบ ในที่สุดฉันก็ท่องไม่ได้ อย่่าว่าแต่ท่องกลอนบทนี้เลย แม้แต่การพูดภาษาอังกฤษมันก็ยากแสนยาก ทั้งนี้เพราะตัวฉันเองไม่เคยสนใจที่จะแปลงตัวเองให้เป็นชาวต่างชาติ แต่เมื่อท่องไม่ได้มันก็ไม่ได้ เพราะครูสอนไม่ได้คิดที่จะลงโทษฉัน หากปล่อยให้ผ่านพ้นไปเฉยๆ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้นมันยังคงค้างคาอยู่ในใจฉันเองอย่างไม่รู้ลืม

อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ผ่านพ้นมา 35ปีแล้ว ฉันได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เขียนไว้ว่า “ครูแสนนอนตายเหมือนกับคนนอนตายข้างถนน”

ข้อความประโยคดังกล่าว มันทำให้ฉันจับปากกาขึ้นมาเขียนส่งถึงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ว่า “ครูแสนไม่ได้นอนตายข้างถนนอยู่คนเดียว แต่มีลูกศิษย์คนนี้นอนตายอยู่ใกล้ๆ” เธอเชื่อไหมว่ากลอนบทนั้นมันเกิดขึ้นภายในใจฉันเอง อย่างถูกต้องหมดทุกคำ

ฉันคิดว่า ถ้าใครจะถามว่าฉันท่องหรือเปล่า ฉันคงตอบว่า ท่องก็ได้หรือไม่ท่องก็ได้

ถ้าคิดว่าท่อง นั่นคือการปฏิบัติของตัวฉันเองมาตลอด 30กว่าปี ดังนั้นการที่ฉันพูดได้ถูกต้องทุกข้อความ แสดงว่าตัวฉันเองได้ปฏิบัติมาแล้วทั้งหมด

นี่แหละที่ฉันนึกถึง ครูแสน ธรรมยศ มาตลอดชีวิตนี้ หรืออาจกล่าวว่า ตัวฉันเองหยั่งรู้ความจริงจากใจครูคนนี้ ซึ่งในช่วงนั้นผลงานของท่านเกี่ยวกับการเขียนบทความภายในสื่อมวลชนมันเข้าถึงจิตใจผู้อ่านได้อย่างลึกซึ้ง นี่แหละที่เขาเรียกกันว่า “จรรยาบรรณของคนที่เป็นครูผู้มีวิชชา เพื่อถ่ายทอดให้แก่ชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแบบอย่างสำหรับการเดินตามได้อย่างภาคภูมิใจ”

ระพี สาคริก

30 พฤศจิกายน 2554

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *