เรามาปรองดองกันดีไหม

ขณะนี้ บ้านเมืองกำลังเกิดความระส่ำระสายอย่างหนัก ถ้าคนไทยส่วนใหญ่นำเอาคำปรามาสที่มักได้ยินกันมาแต่อดีตว่า “คนไทยลืมง่าย คนไทยดูถูกของเล็ก และคนไทยมักไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่แล้ว ฯลฯ” ก็น่าจะสำนึกได้ว่า ในอดีตที่ผ่านพ้นมา เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า หลังจากนั้นก็ยุบไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ

ความจริง เมื่อไม่นานมานี้ก็มีเงื่อนปมที่มีมันผุดขึ้นมาท่ามกลางความระส่ำระสายของแผ่นดินไทย เรื่องนั้นก็คือ “การตั้งกรรมการสมานฉันท์” หลังจากนั้นก็เงียบหายไปเสมือนก้อนหินหล่นลงน้ำก้อนแล้วก้อนเล่า มาบัดนี้เกิดความคิดที่จะตั้งกรรมการปรองดองกันขึ้นมาอีก จนทำให้ต้องหวนกลับมาถามตัวเองว่า “มันเกิดอะไรขึ้นจากสิ่งซึ่งอยู่ใกล้ตัวเราเองภายในสังคมยุคนี้”

นอกจากนั้นสิ่งดังกล่าวได้ทำให้ฉันหวนกลับไปคิดถึงคำปรารภในอดีตที่มักกล่าวว่า “ทำอะไรก็ตาม มักนำเอาความคิดที่จะตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาแทบทุกเรื่อง แสดงให้รู้ว่า ความรู้สึกที่ว่าการตั้งกรรมการไม่ได้นำไปสู่ผลสำเร็จเท่าที่ผ่านพ้นมาแล้ว ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นนี้เป็นต้น”

ความจริงแล้ว ตัวฉันเองได้เคยกล่าวย้ำฝากไว้แก่สังคมหลายครั้งหลายหนแล้วว่า “การแก้ปัญหา ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าใช้หลักธรรม ย่อมนำไปสู่ผลสำเร็จได้ทุกเรื่อง”

ที่กล่าวเช่นนี้ ฉันต้องขออนุญาตชี้แจงถึงเหตุและผลให้เข้าใจได้ถ่องแท้เสียก่อนว่า หลักธรรมไม่ใช่ของฉัน และก็ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากหมายถึง “ธรรมชาติที่มันอยู่ในรากฐานจิตใจเราทุกคน” ซึ่งเรื่องนี้หากใครมีสติสัมปชัญญะ หลังจากตระหนักถึงปัญหา ย่อมหวนกลับมาค้นหาความจริงจากธรรมชาติที่มีอยู่ในใจตนเอง ย่อมนำปฏิบัติมุ่งไปสู่ผลสำเร็จได้ทุกเรื่อง

ความจริงแล้ว จิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคน ถ้าเราดำรงชีวิตอยู่อย่างผู้รับผิดชอบต่อสังคม การนำปฏิบัติจากความจริงที่มันอยู่ในใจตนเอง ย่อมมุ่งไปสู่ผลสำเร็จได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ แม้แต่ความหมายของคำว่า “ปรองดอง” ก็เช่นกัน

เธอลองคิดดูก็แล้วกันว่า หากภายในวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเอง ถ้าเราพบว่าเพื่อนมนุษย์กำลังทะเลาะเบาะแว้งกัน หากเธอมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตัวเธอจะนิ่งดูดายอยู่ได้อย่างไร ดังนั้น ฉันจึงขออนุญาตกล่าวให้มั่นใจได้ว่า “หน้าที่ในการปรองดองนั้น หากเราอยู่อย่างไม่ประมาท ทุกคนต่างก็มีอยู่อย่างเป็นธรรมชาติมาแต่กำเนิด”
ดังนั้น การคิดตั้งกรรมการ ก็อาจแฝงไว้ด้วยความรู้สึกที่ต้องการเงื่อนปมอะไรบางอย่างอันชวนให้สงสัย

ฉันจึงพูดอยู่เสมอว่า “การศึกษาภายในสังคมไทยนั้น มีความรู้ยังไม่พอ แต่ควรรู้เท่าทันสิ่งซึ่งไม่ใช่ของจริง หากมีอิทธิพลจากรูปวัตถุเข้าไปแฝงอยู่ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นได้ จึงควรสงสัยเอาไว้ก่อน ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อสงสัยแล้วก็ควรค้นหาความจริงให้ถึงที่สุด”

อนึ่ง การค้นหาความจริงเพื่อให้สามารถหยั่งรู้ได้ถึงเหตุและผล ทุกคนควรหวนกลับมาค้นหาจากความจริงที่มันอยู่ในใจตนเอง หาใช่มุ่งไปค้นหาจากปรากฏการณ์ที่มันอยู่ภายนอกไม่ นี่คือความจริงซึ่งมีอยู่ในหลักธรรม แม้แต่พระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า “ธรรมะไม่ใช่ของเรา หากเป็นสิ่งที่เราค้นพบได้จากใจตนเองเท่านั้น”

เมื่อพูดถึง “สมานฉันท์” ก็ดี หรือ “ปรองดอง” ก็ดี แม้อาจมีคำอื่นซึ่งมนุษย์ผู้มีกิเลสถึงระดับหนึ่งมักนำมาอ้างเพื่อประโยชน์แห่งตน หากไม่อาจชำระล้างเงื่อนปมที่มันอยู่ในจิตใจตนเองให้สะอาดหมดจรดถึงระดับหนึ่งได้ ก็คงไม่สามารถที่จะรู้เท่าทันต่อสิ่งสมมติดังได้กล่าวมาแล้ว

อย่างที่คนในสังคมมักนิยมพูดกันว่า “ยุบหนอ พองหนอ” ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะใจตนเองถึงระดับหนึ่งให้ได้ก่อนอื่น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น และไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก สิ่งดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น หลักธรรมท่านได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า อย่าไปกำหนดล่วงหน้าเอาไว้ว่า ฉันจะต้องทำให้ได้ผลเท่านั้นเท่านี้ ขอให้ทำอย่างดีที่สุดแค่นั้นเป็นพอ

นี่ ฉันได้ยินมาอีกแล้วว่า ทางการได้ประกาศที่จะทำเรื่องกล้วยไม้ให้ได้ผลกี่หมื่นล้านต่อปี เช่นนี้เป็นต้น ถ้านำหลักธรรมมาใช้วิเคราะห์ค้นหาเหตุผล ประกาศดังกล่าวอาจนำไปสู่การหลอกชาวบ้านให้หลงเชื่อก็ได้ แม้จะหลอกโดยไม่เจตนา แต่กระทำไปเพราะความไม่รู้ ยิ่งมีโอกาสเข้าไปอยู่ในระบบทางการซึ่งควรทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างดีที่สุด

เมื่อกล่าวมาถึงช่วงนี้ ประเด็นดังกล่าวก็ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายหน ถ้าใครจำได้ก็ย่อมรู้ได้เองว่าในอดีตที่ผ่านมานั้นได้เกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งฉันต้องเขียนชี้แจงออกไปว่า “อย่าไปเชื่อ ถ้าขืนเชื่อตัวเราเองนั่นแหละจะต้องลำบาก จึงขอให้ทำอย่างดีที่สุดเท่านั้นเป็นพอ และนี่ก็คือหลักของความพอเพียง ซึ่งทุกคนย่อมนำปฏิบัติได้เพียงขอให้หวนกลับมาสำรวจตัวเองทุกเรื่องที่ต้องการนำไปสู่ประโยชน์สุข”

อย่าให้เขาปรามาสเราได้ว่า “เป็นคนหลงตนลืมตัว” จนกระทั่งถูกหลอกก็หลงเชื่อไปแทบทั้งนั้น ฉันเชื่อว่าหลักธรรมประจำใจซึ่งทุกคนมีอยู่แล้วนั่นแหละหากหยั่งรู้ได้ถึงความจริงแล้วนำออกมาใช้ประโยชน์ย่อมแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปได้ทุกเรื่อง

กระทั่งครั้งหนึ่ง มีคนถามฉันว่า “ท่านอาจารย์เอาเวลาทำงานมาจากไหนจึงทำได้มากมายขนาดนี้” หลังจากถูกถาม ฉันจึงนำเขียนเสนอเพื่อฝากไว้แก่สังคมว่า “อย่าเอากาลเวลามาแบ่งใจคน” นี่แหละที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุระหว่างช่วงซึ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้กล่าวฝากไว้ว่า “สิ่งใดที่มันทำให้เกิดปัญหา หากกลับทิศทางได้ มันก็ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง” ใช่แล้ว คนส่วนใหญ่ย่อมมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น แม้ใครมีมากมีน้อยก็ย่อมมี ตัวฉันเองก็มีด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าพบว่าเกิดปัญหาเรื่องอะไรขึ้นที่ไหน หากกลับทิศทางเสียได้ก็ย่อมรู้ว่า “รากฐานปัญหาที่แท้จริงนั้นมันอยู่ในใจเราเอง จึงไม่ควรหลงโทษคนโน้นคนนั้นว่าเป็นคนสร้างปัญหาให้กับตน”

ที่ฉันกล้าพูดเช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่าตัวเองใช้หลักปฏิบัติในการเอาชนะใจตนเองมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนกระทั่งถึงบัดนี้ ดังนั้นหลังจากรู้สึกถึงความขัดแย้ง จึงมักหวนกลับมาพิจารณาเอาชนะใจตนเองให้ได้ เมื่อเอาชนะใจตนเองได้ก็ย่อมถือขันติธรรมจึงไม่คิดที่จะก้าวออกมาเผชิญหน้ากับคนโน้นคนนั้นให้เกิดความเดือดร้อน เพราะรู้ว่าความทุกข์นั้นมันอยู่ที่ใจเราเองไม่ได้อยู่ที่คนอื่น เช่นนี้เป็นต้น

อนึ่ง สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ฉันต้องกราบขออภัยทุกคน หากเขียนอะไรออกไปแล้วไปกระทบคนนั้นคนโน้น ความจริงแล้วตัวฉันเองไม่ได้คิดที่จะยกตนข่มท่าน ถ้าใครได้อ่านบทความเรื่องหนึ่งซึ่งเขียนไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ใหญ่ที่สุดคือเล็กที่สุด” อันหมายถึงการเจริญเติบโตทางวัตถุนั้น ยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งลดใจลงมาอยู่ต่ำสุด ซึ่งตัวฉันเองในปัจจุบัน ลงมาเดินอยู่ที่พื้นดินแล้วมีความสุข ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นฉันเชื่อว่าอยู่ที่การค้นหาความจริงจากใจตนเองจึงขออวยพรให้ทุกคนจงประสบแต่โชคดีมีชัย

27 กรกฎาคม 2553

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *